เป็นอีกหนึ่งเดือน ที่สถานการณ์ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ดูไม่ดีนัก ยอดขายลดลงต่อเนื่อง ทำเอาภาพรวมซึมทั้งตลาด จากรายงานสถิติการขายรถยนต์ ประจำเดือนสิงหาคม 2566 โดย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ด้วยยอดขาย 60,234 คัน ลดลง 11.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่รถยนต์นั่ง ยังอยู่ในความต้องการของลูกค้า เติบโตต่อเนื่อง ด้วยยอดขาย 23,645 คัน เติบโต 4.9% ส่วนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ชะลอตัวต่อเนื่อง ด้วยยอดขาย 36,589 คัน ลดลง 19.9% โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ชะลอตัวเช่นกัน ด้วยยอดขาย 24,622 คัน ลดลงอย่างมาก ถึง 32.6% จากปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่ลื่นไหล ส่งผลให้มีการชะลอการสินใจซื้ออย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของธุรกิจขนส่ง โดยมีประเด็นสำคัญคือ ความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ที่มีความกังวลต่อหนี้เสีย อันเป็นผลต่อเนื่องที่เกิดจากสภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
ตลาดรถยนต์กันยายนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เข้าสู่ช่วงปลายปีตามฤดูกาลขาย อย่างไรก็ดี ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวของตลาดรถยนต์ในช่วงนี้
ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ประจำเดือนสิงหาคม 2566
มีปริมาณการขาย 19,561 คัน ลดลง 36.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 8,423 คัน ลดลง 35.0% ส่วนแบ่งตลาด 43.1%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 7,967 คัน ลดลง 31.0% ส่วนแบ่งตลาด 40.7%
อันดับ 3 Ford Ranger 1,826 คัน ลดลง 48.2% ส่วนแบ่งตลาด 9.3%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 936 คัน ลดลง 50.2% ส่วนแบ่งตลาด 4.8%
อันดับ 5 Nissan Navara 300 คัน ลดลง 21.1% ส่วนแบ่งตลาด 1.5%
อันดับ 6 Mazda BT-50 61 คัน ลดลง 73.1% ส่วนแบ่งตลาด 0.3%
อันดับ 7 MG Extender 48 คัน ลดลง 76.1% ส่วนแบ่งตลาด 0.2%
เป็นอีกหนึ่งเดือนที่มียอดขายรถลดลงกันถ้วนหน้า และลดลงมากถึง 36.3% คือมากกว่า 1 ใน 3 ของทั้งตลาดไปแล้ว และแม้ว่า isuzu D-MAX จะมียอดขายนำมาเป็นอันดับ 1 แต่ Isuzu ก็คงไม่ได้พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก เพราะนั่นคือยอดขายของรถยนต์รุ่นที่ขายดีที่สุดของบริษัท ที่กำลังประสบกับปัญหาตลาดหดตัว ซึ่งบริษัทเอง ก็ไม่ได้มีรถยนต์นั่งที่กำลังขยายตัว ทำตลาดอยู่ในเมืองไทยเหมือนผู้เล่นรายอื่นๆ งานนี้คงทำได้ดีอย่างมากก็คือการแย่งตลาดมาจากคู่แข่ง ซึ่งก็ถือว่าช่วงเวลาน่าจะเหมาะสมพอดี เพราะหากเป็นไปตามกำหนดการในแต่ละปี การเปิดตัว D-MAX รุ่นใหม่หรือรุ่นพิเศษ มักจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ในขณะที่อันดับ 2 ของตลาดอย่าง Toyota Hilux Revo ก็อาจจะไม่ได้คาดหวังกับการล้มแชมป์ในปีนี้อีกครั้ง เพราะแม้ว่าจะมีรุ่นพิเศษหรือรุ่นย่อยออกมากระตุ้นตลาด แต่ยอดขายก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้นนัก แถมสถานการณ์ในตลาดไม่เอื้ออำนวย งานนี้คงได้แค่รักษาสภาพไปจนถึงสิ้นปี แล้วรอลุ้นกับรุ่น Mild Hybrid หรือไฟฟ้าแบตเตอรี่ ที่มีข่าวว่าอาจจะได้เห็นภายในปีนี้ ในขณะที่ Ford Ranger ยอดขายยิ่งลดลงจากปีก่อนมากกว่า 2 เจ้าตลาดเสียอีก ส่วนจะลุ้นกระตุ้นตลาดครั้งใหญ่ ก็อาจจะเป็นรุ่นไฮบริด ที่บริษัทชิงเผยโฉมออกมาดักทางคู่แข่งรายอื่นก่อน โดยเฉพาะ Toyota ที่เน้นไปที่ตลาดออสเตรเลียมากกว่า แต่กว่าจะขายจริงก็ปีหน้า สำหรับรถใหม่อย่าง Mitsubishi Triton ยอดขายยังน้อยนิดดังเดิม รอเติมยอดจากการทำตลาดเจนเนอเรชั่นใหม่ต่อไป มีเพียง Nissan Navara ที่ในเดือนนี้ ได้รับผลกระทบน้อยกว่าเพื่อน เพราะยอดขายตกลงเพียงแค่ 21% เท่านั้น
ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ใน 8 เดือนแรกของปี 2566
มีปริมาณการขาย 189,555 คัน ลดลง 26.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 83,654 คัน ลดลง 29.5% ส่วนแบ่งตลาด 44.1%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 75,061 คัน ลดลง 23.9% ส่วนแบ่งตลาด 39.6%
อันดับ 3 Ford Ranger 17,493 คัน ลดลง 8.4% ส่วนแบ่งตลาด 9.2%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 9,740 คัน ลดลง 37.0% ส่วนแบ่งตลาด 5.1%
อันดับ 5 Nissan Navara 2,268 คัน ลดลง 45.4% ส่วนแบ่งตลาด 1.2%
อันดับ 6 Mazda BT-50 676 คัน ลดลง 18.9% ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
อันดับ 7 MG Extender 663 คัน ลดลง 67.1% ส่วนแบ่งตลาด 0.3%
ยอดขายสะสมใน 8 เดือนแรก Isuzu D-MAX ยังนำมาเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างอันดับ 2 Toyota Hilux Revo ถึง 8,593 คัน เรียกว่าปิดโอกาสแซงในปีนี้ไปอีกหนึ่งปี น่าจะคว้าแชมป์ยอดขายสูงที่สุดในประเทศไทยไม่ยากนัก เพราะอย่าลืมว่า Isuzu น่าจะเปิดตัวรุ่นใหม่ออกมากระตุ้นตลาดในช่วงก่อนงาน Motor Expo ทำให้ยอดขายก็น่าจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของตลาดด้วย ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ถดถอยมาหลายเดือน แต่อย่างไรก็คงไม่ได้แย่ไปกว่า Toyota ที่มีลุ้นกับยอดขายของรุ่นมายด์ไฮบริดและไฟฟ้า อีกรายที่ยอดขายก็อาจจะดีขึ้นกว่ารายอื่นๆก็คือ Mitsubishi Triton ที่น่าจะรับรู้ยอดขายโฉมใหม่ในเดือนต่อๆไปหลังจากนี้ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้ว ตลาดรถกระบะปิกอัพในปีนี้ก็คงซบเซาไปตลอด หากยังไม่มีปัจจัยบวกที่เด่นชัดมาหนุนทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้ง่ายกว่าเดิม รัฐบาลใหม่อาจจะมีส่วนสำคัญในการทำให้ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์กลับมาอีกครั้งจากนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มออกมาตรการต่างๆออกมา แต่กว่าจะเห็นผล ก็อาจจะใช้เวลาหลายเดือน ซึ่งก็คงไม่สามารถพลิกสถานการณ์ตลาดได้ทันในปีนี้