ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเข้ามาบุกตลาดอย่างหนักหน่วงของค่ายรถยนต์จากจีน โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่แทบจะผูกขาดไปแล้วก็ว่าได้ แต่ที่สร้างความฮือฮามากที่สุดในปีนี้ ก็คือการประกาศเข้ามาทำตลาด และตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ของค่ายยักษ์ใหญ่จากจีน อย่าง BYD ซึ่งเพิ่งซื้อดินที่จังระยอง เพื่อสร้างโรงงาน ด้วยเม็ดเงินลงทุนถึง 17,891 ล้านบาท
ล่าสุด ค่ายรถจีนรุกหนัก รวมตัวตั้ง สมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน ผนึกกำลังแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี สร้างอำนาจต่อรองการลงทุนกับภาครัฐ หวังเข้ามาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยทำการหนุนกลุ่ม ซี.พี. ในฐานะผู้ดูแล 3 แบรนด์ใหญ่จากจีน “เอ็มจี-โฟตอน-แม็คซัส” เป็นโต้โผใหญ่ จากการายงานของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ขณะที่ “บีวายดี” ค่ายยักษ์จีนตอบเข้าร่วมแล้ว พร้อมเชิญ 3 ยักษ์ใหญ่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย “ซัมมิท ออโต้-ไทยซัมมิท-อาปิโก้” เข้าร่วมเป็นซัพพลายเชน วางแผนเปิดตัววันที่ 11 เดือน 11 วงในหวั่นการรุกคืบของจีนแบบยกแพ็ก กระทบผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ
แหล่งข่าวผู้ผลิตรถยนต์จีน เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน 2565 ค่ายรถยนต์ มอเตอร์ไซค์และผู้ผลิตชิ้นส่วนชาวจีนที่ประกอบกิจการในประเทศไทย รวมกว่า 50 ราย จะจัดแถลงข่าวเปิดตัว สมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน อย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมาย ใช้เป็นเวทีสำหรับกลุ่มนักลงทุนจีนในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อแลกเปลี่ยน แบ่งปัน พัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงแนวทางการขยายตลาดในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนขอจดทะเบียนตั้งเป็นสมาคม ซึ่งน่าจะเรียบร้อยในเร็ววันนี้
การรวมตัวกันในครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของกลุ่มค่ายรถยนต์-มอเตอร์ไซค์ และชิ้นส่วนจากจีน ที่จะผงาดในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ตอบรับเทรนด์ของโลก ที่กำลังขยับจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มตัว และหากนับรวมเม็ดเงินลงทุนในประเทศไทย ของกลุ่มนักลงทุนจีนในอุตหกรรมยานยนต์ ทั้งระบบ น่าจะทะลุแสนล้านบาทไปแล้ว
“มีหลายเรื่องที่ผู้ผลิตแต่ละราย ทำข้อเสนอไปยังภาครัฐ ซึ่งบางครั้งไม่มีความเป็นยูนิตี้ ทำให้การตอบรับจากรัฐบาลยังไม่ตรงความต้องการ ซึ่งหากข้อเสนอได้ผ่านการกลั่นกรองจากสมาคม ซึ่งมีคณะกรรมการจากบรรดาสมาชิก ก็จะได้ข้อเสนอไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างชัดเจน”
สำหรับสมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน จนถึงตอนนี้ ได้รวบรวมสมาชิก ได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 50 รายแล้ว โดยภายในกลุ่ม เสนอให้ทาง ซี.พี. ซึ่งมีรถยนต์แบรนด์จีนในมือถึง 3 ยี่ห้อ ได้แก่ เอ็มจี, แม็คซัส และโฟตอน เป็นโต้โผใหญ่หรือนายกสมาคม โดยกำลังทาบทามมิสเตอร์ “จาง ไห่โป” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือไม่ ก็เป็นนายธนากร เสรีบุรี ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป
ล่าสุดสมาชิกผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ซึ่งได้แก่ เอ็มจี, แม็คซัส, โฟตอน, เกรท วอลล์, บีวายดี, เนต้า, ดีเอฟเอสเค, เซเรส, โวล์ท, ตอบรับเข้าร่วมกันเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ในกลุ่มรถจีนที่ยังไม่พร้อมเปิดตัวในไทย ทั้งฉางอัน, เฌอรี่, จิลลี่ ก็ได้รับการทาบทามเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย
รวมถึงยังได้ทาบทามผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยอีก 3 ราย ได้แก่ ไทยซัมมิท ของกลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจ, ซัมมิท ออโต บอดี้ ของกลุ่มจุฬางกูร และอาปิโก้ ไฮเทค ของกลุ่มนายเย็บ ซู ชวน เข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย เนื่องจากเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดประเทศไทย ซึ่งผู้ผลิตยานยนต์จีนแทบทุกรายต้องใช้ชิ้นส่วนจาก 3 บริษัทนี้เป็นหลัก
แนวคิดการจัดตั้งสมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งหลักๆ เป็นค่ายรถยนต์และชิ้นส่วนจากประเทศจีน ในนามของคนจีน โดย ซี.พี.ไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เพราะการส่งเสียงของค่ายรถยนต์จีน อาจจะไม่ดังเท่าค่ายญี่ปุ่น จึงได้มีการรวมตัวกัน เพื่อสร้างเอกภาพตรงนี้ขึ้นมา
ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า จากที่ภาครัฐได้มีมาตรการภาษีและเงินสนับสนุน 70,000-100,000 บาทต่อคัน ช่วยกระตุ้นตลาดรถอีวีได้อย่างมาก ทำให้ค่ายรถจีน ที่อาศัยจังหวะค่ายรถญี่ปุ่น ยังไม่พร้อมทำตลาด เร่งชิงลูกค้าก่อน ด้วยจุดแข็งในการเลือกผลิตภัณฑ์บุกตลาด และการตั้งราคาที่ดึงดูดใจผู้ซื้อในวงกว้างมากขึ้น ทำให้รถอีวีสัญชาติจีน ขยับราคาลงไปสูสีกับรถยนต์ใช้น้ำมัน ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง ทำให้รถอีวีสัญชาติจีน มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
รายงานยังระบุอีกว่า นับจากนี้คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการบุกตลาดและเข้ามาลงทุนของค่ายรถสัญชาติจีนรายใหม่ ๆ ที่ชัดเจนขึ้น ทั้งเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตเอง และที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการไทย ให้เป็นผู้ประกอบรถให้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ที่อาจได้เห็นรถยนต์หลายรุ่น ที่ถูกแนะนำสู่ตลาดมากขึ้น
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีโอกาสที่จีนอาจจะชิงส่วนแบ่งทางการตลาดรวม ได้ถึง 80% จากยอดขายรถ EV ที่คาดว่าในปี 2565 ตลาดรถอีวีจะมากกว่า 10,000 คัน ซึ่งถือว่าขยายตัวมากกว่า 412% (YOY) จากปี 2564 ที่มีรถยนต์ไฟฟ้า จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก 1,954 คัน
ขณะที่ “ค่ายรถญี่ปุ่น” ที่เป็นผู้นำในตลาดรถใช้น้ำมัน หรือเครื่องยนต์สันดาป อาจเข้ามาทำตลาดช้ากว่าค่ายรถจีนและค่ายรถยุโรป โดยคาดว่าจะเริ่มเข้ามาทำตลาดในช่วงครึ่งหลังปี 2565 และอาจจะมีโอกาส กลับมาทวงส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าคืน ได้ในปี 2566
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
[yourchannel video=”fGaLonIDgDs” autoplay=”1″ show_comments=”1″]