8 รถปิกอัพค่ายดัง! พร้อมแค่ไหน สำหรับเวอร์ชั่นไฟฟ้า-ไฮบริด ปี 2023-2024

หลังจากที่ Isuzu ได้เปิดแผนธุรกิจระยะกลาง ปี 2024 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นค่ายรถยนต์รายท้ายๆ ที่แสดงความชัดเจนว่า มีแผนในการพัฒนารถกระบะปิกอัพ ที่ใช้ขุมพลังที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริด และไฟฟ้าแบตเตอรี่ นั่นมีนัยยะว่า ในอนาคตอันใกล้ กลุ่มผู้ใช้รถกระบะปิกอัพ ก็จะมีทางเลือกใหม่ ที่นอกเหนือไปจากขุมพลังที่ใช้น้ำมัน อย่างเครื่องยนต์สันดาปภายใน ทำให้ในตอนนี้ เราพอจะสรุปได้ว่า ค่ายรถยนต์ต่างๆ มีความพร้อมในการทำตลาดรถกระบะปิกอัพ ที่ขุมพลังที่สะอาดมากขึ้น ในระดับใดบ้าง ซึ่งเราจะพูดถึงรถกระบะจาก 8 ค่ายรถยนต์ ที่มีฐานที่ตั้งในเมืองไทยอยู่ในปัจจุบัน

  1. Toyota Hilux เจ้าตลาดจากแดนซามูไรรายนี้ ถือว่าเป็นผู้นำตลาดในด้านขุมพลังไฮบริด ซึ่งผู้บริหารเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยีนี้จะยังได้รับความนิยมไปอีกหลายปี กว่าที่รถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความนิยม แต่มาถึงตอนนี้ ต้องยอมรับว่า มุมมองดังกล่าวไม่เป็นไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะตลาดรถยนต์ไฟฟ้า มีการขยายตัวแบบก้าวกระโดด เกินกว่าที่ใครจะเคยจินตนาการเอาไว้ และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ Toyota จะต้องหาทางออกให้กับธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน หนึ่งในนั้นก็คือ การนำเอาความได้เปรียบที่มีอยู่แล้ว อย่างเทคโนโลยีไฮบริด มาใช้กับรถยนต์บางรุ่นที่ยังไม่เคยมีการใช้มาก่อน นั่นก็คือ รถกระบะปิกอัพ โดยเฉพาะ Hilux ที่เป็นรถกระบะขนาดกลาง ที่ระบบไฮบริด อาจจะยังไม่เป็นที่ยอมรับ หรือสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในตลาดได้ เพราะรถยนต์ที่เน้นการใช้งานหนัก อาจจะต้องการขุมพลังที่สมบุกสมบันทนทานมากกว่า นอกจากนั้นยังสามารถเข้าถึงแหล่งเชื้อเพลิงได้สะดวกกว่า เมื่อรถเกิดปัญหา

Toyota ดูเหมือนว่าจะเป็นรายแรกในวงการ ที่มีข่าวความชัดเจนในการแนะนำ Hilux Hybrid ลงสู่ตลาด เมื่อ CarDebuts ได้นำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวดังกล่าวไปเมื่อราว 2 ปีก่อน นิราศ ลาล่า CEO ของ Toyota New Zealand ได้ออกมาเปิดเผย ในระหว่างการแถลงข่าวการเปิดตัว Yaris ใหม่ ว่าการเปิดตัว Toyota Hilux Hybrid ในตลาดนิวซีแลนด์ จะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปี 2021 ซึ่งจนถึงตอนนี้ การเปิดตัวยังไม่เกิดขึ้น อาจจะเป็นเพราะสถานการณ์โควิด 19 ทำให้แผนงานต่างๆถูกเลื่อนออกไป แต่นั่นก็เป็นการแสดงความพร้อมของ Toyota ว่า บริษัทได้ทำการพัฒนา Hilux Hybrid มานานพอสมควรแล้ว ซึ่งคาดว่า อาจจะสามารถเปิดตัวได้หลังจากนี้ หากบริษัทพร้อมที่จะเป็นรายแรกของวงการ และนั่นทำให้ Toyota Hilux Hybrid อาจจะเป็นรถกระบะรุ่นแรก ที่ใช้ขุมพลังชนิดนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ภายในปี 2023 เราอาจจะได้เห็นรถกระบะรุ่นนี้ในตลาด ซึ่งหากไม่ใช่ในไทย ก็อาจจะเป็นที่นิวซีแลนด์หรือออสเตรเลียก่อน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในตลาดมีความพร้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หลังจากที่ Toyota ได้เคยสำรวจความต้องการของตลาดที่นั่นมาก่อน และข่าวการเตรียมเปิดตัว Fortuner Hybrid ในไทย ในปี 2023 หลังจากที่มีข่าวลือมาก่อนหน้านี้ ยิ่งเป็นการยืนยันว่า Toyota พร้อมที่จะเป็นผู้บุกเบิกในตลาดนี้อย่างเต็มตัว

  1. Ford Ranger ถ้าถามว่า ใครพร้อมที่สุดในด้านเทคโนโลยีไฮบริดและไฟฟ้าสำหรับรถกระบะ คำตอบคงหนีไม่พ้น Ford ซึ่งนอกจากจะมีเทคโนโลยีทั้งหมดแล้ว ยังบุกเบิกตลาดไปก่อนใคร ผ่านทางรถกระบะรุ่นที่ขายดีที่สุดในโลกรุ่นหนึ่งอย่าง F-Series ซึ่งมีการจำหน่ายทั้งเวอร์ชั่นไฮบริดและไฟฟ้า 100% ไปแล้วในสหรัฐอเมริกา จึงไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมาย หาก Ford ต้องการเพิ่มทางเลือกทั้งสองเวอร์ชั่นให้กับ Ranger โดย Ian Foster หัวหน้าทีมวิศวกรของ Ford Ranger ซึ่งเคยเข้าร่วมการเปิดตัว All-New RANGER ในเมืองไทยที่ผ่านมา ได้ยืนยันกับสื่อมวลชนบางรายในประเทศออสเตรเลียว่า แพลตฟอร์มที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ของ Ranger สามารถรองรับระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า 100% ได้ และก่อนหน้านี้ รถทดสอบ Ford Ranger PHEV ได้เคยถูกจับภาพได้ ในระหว่างการขับทดสอบที่ยุโรป ซึ่งคาดว่า จะมีการเปิดตัวตามหลังรุ่นมาตรฐานออกมา ราว 1 ปี ซึ่งเมื่อมองจากสถานการณ์ในปัจจุบัน หากไม่มีการเปลี่ยนแผน เราก็อาจจะได้เห็นการเปิดตัว Ranger PHEV ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับ Hilux Hybrid แตกต่างกันตรงที่ Ford มีความชัดเจนในเรื่องช่วงเวลาในการทำตลาดมากกว่า แม้ว่ายังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการก็ตาม
  2. Mitsubishi Triton รถกระบะรุ่นที่อาจจะมีข่าวน้อยที่สุดรุ่นหนึ่งในช่วง 1-2 ปีมานี้ก็ว่าได้ เพราะอยู่ในช่วงปีสุดท้ายของโมเดล และตามกำหนดเดิม Mitsubishi มีแผนเปิดตัวเจนเนอเรชั่นใหม่ในปี 2022 นี้ ซึ่งทางบริษัทเอง ยังไม่มีท่าทีจะปรับเปลี่ยนแผนไปเป็นปีหน้า แม้ว่าข่าวคราวเกี่ยวกับรถรุ่นนี้จะมีอยู่น้อยมาก โดยที่ผ่านมา มีเพียงภาพ spy shot เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น ที่ถูกจับภาพได้ แต่ก็เป็นเพียงรถต้นแบบ ที่มีการพรางตัวด้วยการใช้ชิ้นส่วนของโฉมปัจจุบันปิดบังอำพรางตัวถังภายนอกเอาไว้ ทำให้ยังมองไม่ออกว่า รถตัวจริง จะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร บอกได้แค่เพียงคำกล่าวอ้าง ของหัวหน้าทีมออกแบบ Triton ว่า ใครได้เห็นรถกระบะรุ่นนี้แล้ว ต้องตะลึงในดีไซน์ใหม่อย่างแน่นอน ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ Triton ใหม่ อาจจะมีทางเลือกเป็นขุมพลัง PHEV ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 3-4 ตัว เพื่อสมรรถนะและการขับขี่ที่ดีกว่ารถไฮบริดทั่วไปที่เห็นในรถยนต์นั่ง และอาจจะมีรถไฮบริดธรรมดาเป็นทางเลือกให้อีกด้วย และในเมืองไทยเอง Mitsubishi ก็มีไลน์ประกอบระบบขับเคลื่อนไฮบริด ที่ใช้กับรุ่น Outlander PHEV อยู่แล้ว นั่นทำให้ Mitsubishi น่าจะมีความพร้อมมากที่สุดในด้านการผลิต แต่นั่นก้ต้องรอการเปิดตัวและทำตลาด Triton รุ่นมาตรฐานไปสักระยะหนึ่งก่อน หรือมีการทำตลาดไปพร้อมๆกัน เพราะนั่นหมายถึงการทำประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วให้ได้มากที่สุด ก่อนที่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าแบตเตอรี่ จะเข้ามาแทนที่ในอนาคต
  3. Isuzu D-MAX ตามที่ได้เกริ่นไปในตอนต้น ISUZU ได้แสดงความชัดเจนแล้วว่า บริษัทมีแผนในการทำตลาดรถกระบะขุมพลังไฟฟ้าและไฮบริดในอนาคต ที่อาจจะครอบคลุมไปถึงระบบ fuel cell ซึ่งรถกระบะพลังงานสะอาดที่ว่า อยู่ในระหว่างการทดสอบอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจริงๆแล้ว Isuzu ได้ทำตลาดรถกระบะไฟฟ้าในประเทศจีนไปแล้วด้วยซ้ำ ภายใต้แบรนด์ Qingling ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรที่นั่น ภายใต้ชื่อ Qingling Isuzu แต่ด้วยธรรมชาติในการทำธุรกิจของ Isuzu คือถ้าตลาดยังไม่ใหญ่พอ ก็ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องลงมาแข่งขันในตลาด แต่ถ้าเมื่อใด Isuzu รับรู้ถึงแนวโน้มที่กำลังเติบโตขึ้น บริษัทก็พร้อมที่จะกระโจนเข้าสู่ตลาดในทันที ด้วยความคล่องตัวที่มีมากอยู่แล้ว จากการที่มีรถยนต์เพียง 2 รุ่นที่ทำตลาดในเมืองไทย นอกเหนือไปจากรถบรรทุก และไม่ว่าลูกค้าในตลาด จะตอบรับรถกระบะไฮบริด หรือไฟฟ้าแบตเตอรี่มากกว่ากัน เชื่อว่า ไม่ส่งผลกระทบกับ Isuzu มากนัก เพราะไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง เหมือนค่ายญึ่ปุ่นอื่นๆ ที่ทุ่มเทไปกับเทคโนโลยีไฮบริดมาก จนยากที่จะละทิ้งไปง่ายๆ
  4. Nissan Navara ตั้งแต่เจนเนอเรชั่นใหม่ขึ้นไป Nissan ได้มอบหมายให้ Mitsubishi เป็นผู้นำในการพัฒนาโครงการนี้ โดย Nissan จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนในด้านเทคโนโลยีที่ตัวเองถนัด เช่นเครื่องยนต์ หรือระบบขับเคลื่อนไฮบริดอย่าง e-Power จนครั้งหนึ่งเคยมีข่าวว่า Mitsubishi Triton อาจจะมาพร้อมรุ่น e-Power เป็นอีกหนึ่งทางเลือก การที่รถทั้งสองรุ่นใช้แพลตฟอร์มร่วมกัน ทำให้ NAVARA โฉมใหม่ ที่คาดว่าจะเปิดตัวตามหลัง Triton มาภายใน 1-2 ปี ก็จะมีขุมพลังไฮบริดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยอัตโนมัติ ในขณะที่ขุมพลังไฟฟ้า เป็นเทคโนโลยีที่ Nissan มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ก็อาจจะเป็นจุดแข็งที่บริษัทส่งต่อให้กับ Mitsubishi ได้เช่นกัน นั่นทำให้ Nissan Navara และ Mitsubishi Triton เจนเนอเรชั่นใหม่ เป็นเหมือนฝาแฝดที่มีจะใช้ขุมพลังไฮบริดและไฟฟ้าไปพร้อมๆกันโดยอัตโนมัติ
  5. Mazda BT-50 อย่างที่ทราบกันดีกว่า รถกระบะรุ่นนี้ ใช้พื้นฐานร่วมกับ Isuzu D-MAX ที่คาดว่าชื่อเสียงของ D-MAX จะช่วยพายอดขายของ BT-50 ให้ทะยานขึ้นตามไปด้วย แต่กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่า ผลที่ออกมา ตรงกันข้ามกับที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งในแง่ของทางเลือก ที่เป็นขุมพลังไฮบริด หรือไฟฟ้า ก็คงไม่ใช่ปัญหาของ Mazda ตราบใดที่ยังจับมือกับ Isuzu แต่ปัญหาคือ จะคุ้มหรือไม่ ที่จะสั่งผลิตเวอร์ชั่นใหม่ออกมาทำตลาด ในขณะที่รุ่นมาตรฐาน ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
  6. MG Extender การตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 20,000 คันต่อปี หรือ 1,600 กว่าคันต่อเดือน ในปีแรกที่เปิดตัวในเมืองไทย เป็นการแสดงความมั่นใจอย่างสูง ในการทำตลาด แต่ก็ไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ แถมในตอนนี้ ก็ยังมียอดขายห่างจากเป้าอยู่มาก ทำให้ MG อาจจะกล้าเสี่ยงที่จะลองทางเลือกใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ด้วยการใช้จุดแข็งในเรื่องขุมพลังไฟฟ้าแบตเตอรี่ ที่โชว์ผลงานได้ดีในตลาดเอสยูวี ในขณะเดียวกัน ยอดขาย Extender รุ่นมาตรฐาน ที่ยังไม่ไปถึงไหน ก็เป็นเหมือนเสียงคัดค้านที่ทำให้ MG จะต้องชั่งใจอย่างหนักว่า จะคุ้มค่าหรือไม่ หากต้องเปิดแนวรบใหม่ในตลาดที่สุดหิน จึงมีความเป็นไปได้ว่า MG อาจจะรอดูท่าทีไปก่อน เพราะจนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวใดๆ ว่า MG มีแผนจะผลิต Extender Hybrid หรือ EV ในเมืองไทย
  7. Great Wall Poer รถกระบะน้องใหม่ ที่เคยเผยโฉมในเมืองไทยไปแล้ว ด้วยรถต้นแบบที่เป็นเวอร์ชั่นไฟฟ้า 100% เหมือนเป็นการมองข้ามขุมพลังไฮบริดไปเลยตั้งแต่ต้น และในช่วงแรกของการเปิดตัวบริษัท Great Wall เคยแสดงวิสัยทัศน์ การขึ้นเป็นแบรนด์รถกระบะปิกอัพ 1 ใน 3 อันดับแรกของโลก ภายในปี 2025 ด้วยเป้าหมายยอดขายมากกว่า 3 ล้านคัน และเป้าหมายระยะสั้น ภายในปี 2020 ที่ 2 แสนคัน แต่การที่โรคระบาดโควิด 19 น่าจะทำให้สิ่งต่างๆที่หวัง ไม่เป็นไปตามการที่คาดเอาไว้ แต่ด้วยการที่ค่ายจีน เลื่องชื่อในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว และการได้เห็น MG Extender เป็นตัวอย่าง อีกทั้งการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ที่เพิ่งประกาศออกมาเมื่อไม่นานมานี้ น่าจะทำให้ Great Wall มองไปที่การทำตลาดเวอร์ชั่นไฟฟ้า มากกว่าเวอร์ชั่นไฮบริด นั่นทำให้ในปี 2023 เราอาจจะได้เห็นการเปิดตัว Great Wall Poer EV ในตลาดเมืองไทย และน่าจะเป็นรถกระบะรุ่นแรกที่ใช้ขุมพลังไฟฟ้า แต่ด้วยปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญในตลาด แผนงานต่างๆอาจจะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง

ในภาพรวมแล้ว นอกจากค่าย Peugeot ที่มีแผนทำตลาดรถกระบะรุ่น Lantrek ในเมืองไทยในปีหน้า 2023 หากไม่มีการเลื่อนออกไปอีก ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน ในเรื่องขุมพลังไฮบริดหรือไฟฟ้า จากข้อมูลความเคลื่อนไหวของค่ายรถกระบะต่างๆจนถึงตอนนี้ พอจะบอกได้ว่า ในทางเทคนิคแล้ว ทุกบริษัท มีความพร้อมในการนำเสนอรถกระบะ ที่ใช้ขุมพลังไฮบริดหรือไฟฟ้าแบตเตอรี่อยู่แล้ว เพียงแต่ช่วงเวลาใด จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ในการแนะนำลงสู่ตลาด แต่ด้วยข้อจำกัดในด้านเวลาของเทคโนโลยีไฮบริด ที่อาจจะถูกแทนที่ด้วยระบบไฟฟ้าแบตเตอรี่ในอนาคต จึงอาจจะทำให้บางค่ายรถยนต์ ที่ลงทุนไปกับเทคโนโลยีไฮบริดด้วยเงินมหาศาล ยอมเสี่ยงเปิดตลาดใหม่ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน อย่างตลาดรถกระบะขนาดกลาง ด้วยการเปิดตัวรุ่นไฮบริด ในปีหน้าเป็นปีแรก ซึ่งหากได้รับการตอบรับที่ดี เชื่อว่าค่ายอื่นๆ จะส่งรุ่นไฮบริดและไฟฟ้าแบตเตอรี่ตามลงมา ในระยะเวลาอีกไม่นาน ทำให้ในปี 2023 ที่จะถึง อาจจะปีที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ของตลาดรถกระบะขนาด 1 ตันในเมืองไทย ก็เป็นไปได้ หรืออย่างช้า เราน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ ในปี 2024