ประเทศไทย ถูกขนานนามว่า เป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียมานานหลายสิบปี จากการเป็นศูนย์กลาง ในการผลิตรถยนต์ที่สำคัญในภูมิภาค แต่ในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ อินโดนีเซีย เริ่มผงาดขึ้นมาเป็นฐานการผลิตสำคัญ ของค่ายรถยนต์ต่างๆทั่วโลก ที่พอจะเรียกได้ว่า แทบจะทุกค่าย ที่มีการลงทุนตั้งโรงงานในเมืองไทย ก็มักจะมีฐานการผลิตในอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน ซึ่งเหตุผลหลัก ก็คือเรื่องของตลาดที่มีขนาดใหญ่ และแรงงานที่มีต้นทุนไม่สูงมาก จนทำให้ปี 2021 ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศอินโดนีเซีย สามารถแซงนำยอดขายภายในประเทศของไทยไปได้ ถือว่าเป็นไมล์สโตนสำคัญของอินโดนีเซีย ในขณะที่เมืองไทย ก็พยายามปรับตัว ไปเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ที่ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งได้รับความนิยมน้อยลงไปทุกที และรัฐบาลอินโดนีเซีย ก็พยายามดึงนายทุนใหญ่ระดับโลก เช่น Tesla ให้มาสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือแบตเตอรี่ที่นั่น แม้ว่าถึงตอนนี้ ยังไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม แต่ล่าสุด ดูเหมือนว่าอินโดนีเซีย จะทำได้ดีกว่านั้น
เมื่อ CATL บริษัทสัญชาติจีน ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำรองไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ประกาศใช้เงินลงทุน ถึง 5,968 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2 แสนล้านบาท ในโครงการต่างๆ มากถึง 6 โครงการ ในประเทศอินโดนีเซีย ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำรองไฟ แบบครบวงจร ตั้งแต่การทำเหมืองแร่นิเกิล การผลิตวัตถุดิบ การผลิตแบตเตอรี่่ ไปจนถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ด้วยการลงนามในข้อตกลง กับบริษัท แอนนิก้า ทัมบัง หรือ ANTAM และบริษัทอินดัสทรี แบตเตอรี่ อินโดนีเซีย หรือ IBI จากแดนอิเหนา เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา โดย ANTAM เป็นบริษัทมหาชน ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเหมืองแร่ และมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ส่วน IBI เป็นบริษัทของรัฐเช่นกัน ที่บริหารจัดการเงินลงทุน ที่เน้นในด้านการผลิตแบตเตอรี่ โดยการลงทุนครั้งล่าสุดนี้ ถือว่าเป็นการดำเนินกลยุทธ์ที่สำคัญระดับโลกของบริษัท ในอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบสำคัญ และลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมๆกัน โดย 6 โครงการที่ว่า CATL มีการลงทุนอยู่ราว 60-70% ในเกือบทุกโครงการ โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้าง รวม 5 ปี ระหว่างปี 2022 ไปจนถึงปี 2026 ในพื้นที่รวมกว่า 19.39 ตารางกิโลเมตร จากการเปิดเผยของ โรบิน เจิ้ง ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท
โรงงานแห่งใหม่นี้ ถือว่าเป็นการลงทุนครั้งล่าสุดของ CATL หลังจากที่ได้ตั้งโรงงานแห่งแรกในต่างปรเทศ ที่รัฐอิสระทือริงเจีย ในประเทศเยอรมนี ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติสิทธิ์ ในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ที่มีกำลังการผลิตรวม 8 กิกะวัตต์ชั่วโมง เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา โดยคาดว่า จะสามารถผลิตแบตเตอรี่ล็อตแรกออกมาได้ ภายในสิ้นปี 2022 นี้
จากรายงานของ SNE บริษัทวิจัยทางการตลาดจากเกาหลีใต้ พบว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา CATL มีกำลังการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ สูงถึง 96.7 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 167.13% ในปีก่อนหน้า ซึ่งทำได้ที่ 36.2 กิกะวัตต์ชั่วโมง ทำให้ CATL มีส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลก สูงถึง 32.6% ในปี 2021 ที่ผ่านมา กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่สำรองไฟ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน
การที่อินโดนีเซีย กำลังจะกลายเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ที่สำคัญของ CALT ย่อมส่งผลกระทบ กับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทย ไม่น้อย เพราะเซลล์แบตเตอรี่ ถือว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุด ของรถยนต์ไฟฟ้าก็ว่าได้ ซึ่งในปัจจุบัน ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในโลก ก็เป็นบริษัทสัญชาติจีน และ CALT ก็ถือว่าเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ ให้กับค่ายรถยนต์เหล่านี้ รวมถึงค่ายรถยนต์อื่นๆทั่วโลก ซึ่งแม้ว่าค่ายรถยนต์จีนหลายค่าย มีแผนที่จะประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย แต่ในส่วนของเซลล์แบตเตอรี่ อาจจะมีการนำเข้ามาจากอินโดนีเซีย เพื่อมาประกอบให้สมบูรณ์ในเมืองไทย และอินโดนีเซียเอง ก็อาจจะเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร และมีการส่งออกมาจำหน่ายในเมืองไทย ด้วยภาษีนำเข้าที่เป็นศูนย์ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน และนั่นอาจจะทำให้อินโดนีเซีย กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย รวมถึงภูมิภาคอาเซียน