งานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 36 เพิ่งจบลงไปหมาดๆ พร้อมการสรุปยอดจองรถยนต์ภายในงาน ที่มีการรายงานผลวันต่อวัน ซึ่งตั้งแต่วันแรกเป็นต้นมา Honda ได้ทำยอดจอง นำเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด ตามมาด้วยเจ้าตลาดอย่าง Toyota ที่ตามมาติดๆ จนถึงวันที่ 10 ของการจัดงาน ที่ Toyota เริ่มทำยอดจองเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น และทำตัวเลขได้มากกว่า Honda อย่างเห็นได้ชัด เรื่อยมาจนถึงวันสุดท้ายของการจัดงาน ด้วยยอดจองรวมทั้งสิ้น 6,243 คัน แซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในขณะที่ Honda ทำได้ที่ 5,766 คัน ส่วน Mazda ตามมาเป็นที่ 3 เฉือน ISUZU อันดับ 4 เพียง 200 กว่าคัน โดยมี Mitsubishi ที่ทำยอดขายได้เกือบ 3,000 คัน ตามมาเป็นที่ 5 ซึ่งค่ายรถยนต์ที่กล่าวมา ก็เป็นยัง 5 อันดับแรกเช่นเดิม เหมือนในปี 2018 เพียงแต่ 3 อันดับแรก มีการสลับอันดับกันเท่านั้น
และนี่ก็คือ ยอดจองของค่ายรถยนต์ต่างๆ กว่า 30 แบรนด์ ที่สามารถทำยอดจองรวมทั้งหมด ได้ที่ 37,489 คัน ต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ ที่ 5 หมื่นคัน น้อยกว่าปี 2018 อยู่ถึง 6,700 คัน แม้ว่าปีนี้ จะมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่หลากหลายรุ่น ในปลายปีก็ตาม ทั้งนี้สาเหตุหลัก คงหนีไม่พ้นกำลังซื้อที่ลดลง จากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย ตามที่เราได้เคยนำเสนอข่าวมาโดยตลาด ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันยอดจองรถยนต์ดังกล่าว ถือว่าเป็นสีสันในวงการรถยนต์ รวมถึงการตลาดของค่ายรถยนต์แต่ละค่าย ที่จะใช้กลวิธีต่างๆ เพื่อสร้างความสนใจให้เกิดขึ้น บนพื้นที่สื่อ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และความเชื่อมั่น ให้เกิดกับกลุ่มเป้าหมาย และอย่างที่เราได้เคยได้อธิบายไปแล้ว ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาว่า ยอดการจองรถยนต์ อาจจะไม่ตรงกับข้อมูลที่แท้จริงของค่ายรถยนต์แต่ละค่าย อันเนื่องมาจากการจัดเก็บข้อมูล ที่เป็นเพียงการประเมิน ให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดเท่านั้น รวมถึงการสร้างยอดจองก่อนงาน หรือนอกงาน ที่ค่ายรถยนต์ สามารถจูงใจให้ลูกค้า ที่สนใจจะซื้ออยู่แล้ว เข้ามาทำการจองในงาน เพื่อยอดจองที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง
สำหรับยอดขายที่แท้จริง หรือแม้แต่ยอดจดทะเบียน ต่อกรมการขนส่งทางบก จะต้องรอติดตามอีกครั้ง ซึ่งหลังจากผ่านพ้นสิ้นปีนี้ไป เราก็จะทราบจริงๆว่า ในปี 2019 ที่กำลังจะผ่านไป ค่ายรถยนต์ใด จะมียอดขายมากน้อยแค่ไหน