หลังจากเงียบหายไป 2 วันในการอัพเดทข้อมูลยอดจองรถยนต์ในงาน Motor Expo 2023 ในที่สุดวันนี้ ผู้จัดงาน ก็ได้เผยตัวเลขยอดจองล่าสุด ที่้มียังประเด็นน่าสนใจเหมือนเดิม เพราะต้องบอกว่าปีนี้ รถยนต์ไฟฟ้ามาแรงเกินคาด โดยเฉพาะรถยนต์จากค่ายจีน
เริ่มจากอันดับที่ 20 Kia กับยอดจองที่ 208 คัน อันดับ 19 จากเกาหลีใต้อีกเช่นกัน นั่นก็คือ สำหรับอันดับที่ 18 เป็นของ Volvo ทำได้ที่ 307 คัน อันดับ 17 Tesla แบรนด์ดังในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ที่รอลุ้นว่า จะมาตั้งโรงงานในเมืองไทยหรือไม่ กับยอดจองในงาน ที่ 332 คัน แต่ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ได้จากการคำนวณ รายการ ซื้อรถ…ชิงรถ สำหรับอันดับ 16 เป็นของ BMW ที่ 719 คัน เบียดกันมาแบบติดคืออันดับ 15 Mercedes-Benz ที่ 745 คัน อันดับ 14 Mitsubishi 795 คัน แม้ว่าจะเพิ่งเปิดตัว All-New Triton เจนเนอเรชั่นใหม่ไปไม่นาน แต่ด้วยการที่ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์หดตัวอย่างหนัก ทำให้สถานการณ์ของ Mitsubishi ยิ่งย้ำแย่ลงไปอีก ทิ้งห่างกันไม่มากนักก็คือ Ford ในอันดับ 13 ที่ 860 คัน ส่วนอันดับ 12 เป็นของ Suzuki ที่ 924 คัน ที่น่าสนใจอย่างแรกก็คืออันดับ 11 Neta หลังจากที่อยู่ใน Top 10 มาโดยตลอด ทำได้ที่ 1,052 คัน ถือว่าไม่เลวสำหรับแบรนด์เล็กน้องใหม่ และมีจำนวนน้อยรุ่น ส่วนอันดับ 10 ก็คือ Mazda ที่เริ่มแรงปลาย ทำได้ที่ 1,161 คัน อันดับ 9 เป็นของ Nissan แบรนด์เก่าแก่ในเมืองไทย ทำได้ที่ 1,389 คัน อันดับ 8 เป็นของ ISUZU ที่ทรงตัวในตำแหน่งเดิม ทำได้ที่้ 1,689 คัน จากการที่มีรถจำหน่ายเพียง 2 รุ่นหลักๆ อันดับ 7 MG เริ่มแผ่วลงมา ทำได้ที่ 1,910 คัน ในขณะที่ Great Wall Motor ทำยอดจองได้ที่ 2,122 คัน รั้งอันดับ 6 ส่วนอันดับ 5 ยังแรงไม่ตก นั่นก็คือ Changan ที่ทำตลาดในแบรนด์ Deepal ที่ 2,217 คัน และที่ยังทำเซอร์ไพรซ์ได้เหมือนเดิมก็คือ AION ที่ครองอันดับ 4 กับยอดจองที่ 2,687 คัน สำหรับ 3 อันดับแรก ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ BYD ตกลงมาเป็นอันดับ 3 ด้วยยอดจองที่ยังถือว่ามากพอตัว ที่ 3,405 คัน ถูก Honda เบียดแซงไปได้ กับยอดจอง 3,413 คัน ห่างกันเพียง 8 คันเท่านั้น ถือว่ายังมีสิทธิ์สลับตำแหน่งกันได้ในทุกวันที่เหลือ และอันดับ 1 เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Toyota กับยอดจอง 4,396 คัน เริ่มทิ้งห่างอันดับ 2 ไปมากพอสมควร คือเกือบ 1,000 คัน สำหรับยอดจองรวมทั้ง 10 วัน ทะลุ 3 หมื่นคันไปเป็นที่เรียบร้อย คืออยู่ที่ 31,602 คัน
หากประเมินจากจำนวนวันจัดงานที่เหลือ และระยะห่างเกือบ 1,000 คัน โอกาสที่ BYD จะสร้าง impact ให้กับตลาดแบบพลิกล็อก ก็ถือว่ามีน้อย เพราะในช่วงวันหลังๆ แต่ละค่ายก็มักจะทำยอดจองให้สูงเข้าไว้เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพราะเมื่อไรที่ปล่อยให้ค่ายน้องใหม่ แบรนด์ใหม่ และขายรถเพียงไม่กี่รุ่น ทำยอดจองมากกว่า ภาพที่้ออกไปสู่สายตาของกลุ่มเป้าหมายในตลาดย่อมส่งผลเสียกับแบรนด์เก่าแก่ที่เป็นรองอย่างแน่นอน จะบอกว่าทำให้คนไทยหันมาซื้อรถตามกระแสก็ไม่ผิดนัก สิ่งนี้ค่ายใหญ่ๆของญี่ปุ่นจึงยอมไม่ได้ ยิ่งมีรถยนต์หลายรุ่นในการทำตลาดแล้วด้วย ย่อมหาเหตุผลของการตกเป็นรองไม่ได้แม้แต่น้อย ในขณะที่หลายค่ายอาจจะให้เหตุผลได้ว่ามีรถจำหน่ายเพียง 2-3 รุ่นเท่านั้น แต่ไม่ใช่เหตุผลสำหรับค่ายรถยนต์จากจีนอีกต่อไป เพราะค่ายที่มีรถจำหน่ายไม่กี่รุ่นอย่าง BYD AION Changan NETA ยังทำได้ดีไม่แพ้แบรนด์ดังหลายๆค่าย ไม่ว่ายอดจองสะสมในวันสุดท้าย จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม ผลงานของค่ายจีนที่ออกมาให้เห็นจนถึงตอนนี้ ได้สะท้อนถึงพฤติกรรมใหม่ของคนไทยไปแล้วว่า ไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์ ความเก่าแก่ แม้แต่เครือข่ายศูนย์บริการด้วยซ้ำ ซึ่งในอนาคต หากค่ายจีนเหล่านี้ เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆมากขึ้นไปอีก ยอดขายของค่ายเก่าแก่ที่ทำตลาดในไทยมานานหลายสิบปี จะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งจุดนี้ น่าจะทำให้หลายค่ายกลับไปคิดทบทวนกลยุทธ์การทำตลาดใหม่อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ที่สุดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในตอนนี้ ก็คือการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาแข่งขันในเมืองไทย ในทางตรงกันข้าม เรื่องนี้ทำให้ค่ายรถยนต์จากจีน อาจจะเร่งเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่เร็วกว่าที่วางแผนเอาไว้ และตัดสินใจได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะการตอบรับของตลาด ต้องบอกว่า สูงเกินกว่าที่เคยจินตนาการเอาไว้ ในปี 2024 ตลาดรถยนต์ของเมืองไทย จึงน่าจับตามองมากเป็นพิเศษ และอาจจะกลายเป็นกรณีศึกษาของหลายประเทศทั่วโลก ที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังอยู่ในช่วงตั้งไข่ หรือยังไม่ได้เริ่มอย่างจริงๆจังๆด้วยซ้ำ