หลังจากที่มีข่าวในสื่อกระแสหลักต่างๆว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ยื่นข้อเสนอ ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล จากผลกระทบของโควิด-19 ใน 3 มาตรการดังนี้
มาตรการที่ 1 ให้สามารถนำรถเก่าแลกรถใหม่ โดยเน้นไปที่รถเก่า ที่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยนำมาแลกรถยนต์ไฟฟ้าหรือไฟฟ้าแบบผสม โดยขอให้รัฐบาล ให้เงินสนับสนุน มูลค่า 100,000 บาท
มาตรการที่ 2 ขอลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ 50% ไปจนถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งคาดว่า อาจจะทำให้ราคาขายปลีก ลดลงไปอีกหลายหมื่นบาท ไปจนถึง 1 แสนบาท
มาตรการที่ 3 ขอเลื่อนการบังคับใช้ มาตรฐานมลพิษยูโร 5 และยูโร 6 ซึ่งตามแผนเดิม จะเริ่มบังคับใช้ ในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ ให้เลื่อนออกไปก่อน เพราะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น อีกเป็นจำนวนมาก
ซึ่งทางภาครัฐเอง ก็จะนำข้อเสนอเหล่านี้ ไปพิจารณา แต่ก็ยังมีหลายประเด็น ที่ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ และยากที่จะเป็นไปได้ เช่น กรอบเวลาในบางเรื่อง ประเภทของรถยนต์ และรุ่นรถยนต์ ที่ขอให้มีการสนับสนุน ฯลฯ นอกจากนั้น มาตรการต่างๆเหล่านี้ หากมีการนำไปปฏิบัติแล้ว อาจจะส่งผลกระทบในด้านอื่นๆตามมา
ซึ่งหลังจากที่มีข่าว การขอสนับสนุนจากทางภาครัฐในเรื่องนี้ ประธานสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว ก็ออกมาโพสต์ข้อความ แสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวอย่างรุนแรง และตรงไปตรงมา ผ่านทาง facebook ของสมาคมฯ ว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้น ล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่่วนเสีย ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ ไปจนถึงธุรกิจปลายน้ำทั้งสิ้น
โดยระบุว่าโควิด19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่เพียงกลุ่มเดียว การเรียกร้องเพื่อให้ภาครัฐ สนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยไม่คำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง “เป็นการกระทำที่น่าละอาย และเห็นแก่ตัวอย่างที่สุด” และขอให้ทางสภาฯ ไตร่ตรองข้อเรียกร้องให้ละเอียดถี่ถ้วน ก่อนที่จะยื่นข้อเรียกร้อง ไปยังภาครัฐ พร้อมแนะนำ ให้ไปปรับปรุงพัฒนา วิธีการจัดจำหน่ายในยามวิกฤตนี้ ให้ดีขึ้น เฉกเช่นเดียวกับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่มีทุนในการประกอบธุรกิจน้อยกว่า ได้ปรับตัวกันไปแล้ว
การเสนอให้ภาครัฐ สนับสนุนเงินทุน เพื่อชดเชยราคารถยนต์ใช้แล้ว และผลักภาระมาให้อุตสาหกรรมข้างเคียงโดยไม่ปรึกษาหารือกัน เป็นการกระทำที่ไม่มีมารยาทในทางธุรกิจ ข้ออ้างที่ว่า การที่การขายรถยนต์ใหม่มากขึ้นจะทำให้รถยนต์ที่ปล่อยไอเสีย ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีจำนวนลดลง ล้วนแล้วแต่เป็นข้ออ้างทางธุรกิจ
ข้อเสนอและการคัดค้านใน 3 มาตรการดังกล่าว ย่อมส่งผลดีและผลเสีย กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ในแง่ของประชาชนผู้ใช้รถ มาตรการใหม่ ที่ต้องรอการพิจารณา จากภาครัฐก่อนนี้ ย่อมเป็นเรื่องที่ดี ที่จะช่วยให้การซื้อรถใหม่ ทำได้ง่ายขึ้น และมีภาระลดลง
และถ้าหากทางภาครัฐ ออกมาตรการขึ้นมาสนับสนุน ธุรกิจรถยนต์ใช้แล้ว ในระดับที่เท่าเทียมกัน เชื่อว่า สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว ก็น่าจะพึงพอใจ แต่อย่าลืมว่า มีได้ก็ต้องมีเสีย ซึ่งหมายถึง รัฐบาลจะมีรายได้ลดลง รายจ่ายเพิ่มมากขึ้น และอาจจะมีการเรียกร้อง จากทางภาคธุรกิจอื่นๆ ตามมาอีก ซึ่งเรื่องนี้ จะลงเอยด้วยดี หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถ ในการบริหารจัดการของคนในรัฐบาลเอง