ยักษ์ใหญ่ยานยนต์ของญี่ปุ่น ฮอนด้า และ นิสสัน กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง จากการเปิดเผยโดยแหล่งข่าวที่้มีข้อมูลในเรื่องนี้ โดยการดำเนินการดังกล่าว ที่จะช่วยให้ทั้งสองบริษัทสามารถแบ่งปันทรัพยากรกันได้มากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์โลกต้องพลิกผัน
การพูดคุยของสองค่ายยักษ์ใหญ่ ที่มีการรายงานโดยสำนักข่าว Nikkei จะช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งสองราย สามารถร่วมมือกันได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ในด้านเทคโนโลยี ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังถูกเขียนใหม่โดยบริษัทต่างๆ เช่น Tesla และคู่แข่งจากจีน
การเจรจาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ที่เป็นบริษัทแม่ที่ Nissan และ Honda จะเข้าไปถือหุ้น จากการให้ข้อมูลของแหล่งข่าวที่ขอไม่เปิดเผยชื่อ เนื่องจากยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณชน ยังไม่มีความชัดเจนในตอนนี้เสียทีเดียวว่า บริษัทโฮลดิ้งแห่งใหม่นี้ มีเป้าหมายเพื่อการรวมกิจการระหว่างทั้งสองบริษัทโดยสมบูรณ์หรือไม่ แม้ว่า Nikkei จะรายงานว่าพวกเขากำลังเริ่มพูดคุยเรื่องการควบรวมกิจการอยู่ก็ตาม
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งสองรายมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น เนื่องจากต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากการแข่งขันที่รุนแรงแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์ยังต้องเผชิญกับความต้องการที่ลดลงในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้ผู้ผลิตต้องเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้น
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ฮอนด้าและนิสสันได้ออกแถลงการณ์เหมือนกัน โดยระบุว่าไม่มีการประกาศการควบรวมกิจการระหว่างบริษัททั้งสอง
“ตามที่ได้มีการประกาศเมื่อเดือนมีนาคมของปีนี้ ฮอนด้าและนิสสันกำลังสำรวจความเป็นไปได้ต่างๆ สำหรับความร่วมมือในอนาคตโดยอาศัยจุดแข็งของกันและกัน” บริษัททั้งสองระบุในแถลงการณ์แยกกัน โดยเสริมว่า พวกเขาจะแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบ เกี่ยวกับการอัปเดตใดๆ ในเวลาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ บริษัท Renault ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Nissan กล่าวว่าไม่มีข้อมูลใดๆ และปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้
ในช่วงปีที่ผ่านมา สงครามราคาของรถยนต์ไฟฟ้า ระหว่าง Tesla และ BYD ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ได้เพิ่มแรงกดดันให้กับบริษัทต่างๆ ที่สูญเสียรายได้จากการผลิตรถยนต์รุ่นต่อไป ซึ่งส่งผลให้บริษัทต่างๆ เช่น Honda และ Nissan ต้องเผชิญกับแรงกดดันในการหาวิธีลดต้นทุนและเร่งพัฒนารถยนต์ให้เร็วขึ้น และการควบรวมกิจการถือเป็นก้าวสำคัญในทิศทางดังกล่าว
มูลค่าตลาดของฮอนด้าอยู่ที่ 5.95 ล้านล้านเยน (1,327,000 ล้านบาท) ในขณะที่มูลค่าตลาดของนิสสันอยู่ที่ 1.17 ล้านล้านเยน (260,000 ล้านบาท) หากมีข้อตกลงเกิดขึ้น จะถือเป็นข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์นับตั้งแต่การควบรวมกิจการมูลค่า 52,000 ล้านดอลลาร์ระหว่าง Fiat Chrysler และ PSA ในปี 2021 เพื่อก่อตั้งบริษัท Stellantis
เจสสิกา คาลด์เวลล์ นักวิเคราะห์ของเอ็ดมุนด์ส บริษัทข้อมูลด้านยานยนต์ กล่าวว่า “ความคิดที่ว่าผู้เล่นรายย่อยบางราย สามารถอยู่รอดและเติบโตได้นั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีความซับซ้อนที่เกิดจากผู้ผลิตจีนที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพิ่มเข้ามา มันมีความจำเป็นเพื่อความอยู่รอด และไม่ใช่แค่เพื่อความอยู่รอดเท่านั้น แต่ยังทำเพื่ออนาคตอีกด้วย”
หุ้นของฮอนด้าที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.9% ในการซื้อขายภาคบ่าย
ฮอนด้าและนิสสัน ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสองและสามของญี่ปุ่น ตามลำดับ รองจากโตโยต้า ได้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจีน ซึ่งตลาดจีนคิดเป็นเกือบ 70% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในเดือนพฤศจิกายน โดยมียอดซื้อมากกว่า 1.27 ล้านคันในเดือนดังกล่าว
ทั้งสองบริษัทมียอดขายทั่วโลกรวมกัน 7.4 ล้านคันในปี 2023 แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่ง BYD และผู้เล่นรายอื่นๆ มียอดขายพุ่งข้างหน้า
ผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกอย่าง General Motors และฟอร์ด(FN) ได้ชะลอการลงทุนในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากต้นทุนในการกู้ยืมเงินที่สูง และโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จไฟที่ยังไม่ดีพอ ทำให้การนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้มีอุปสรรค แม้จะมีมาตรการจูงใจจากรัฐบาลก็ตาม ในเดือนกันยายน GM เปิดเผยว่า บริษัทกำลังเจรจากับ Hyundai Motor ของเกาหลีใต้ เพื่อสำรวจวิธีร่วมมือกันในการลดต้นทุน รวมถึงการพัฒนายานยนต์ร่วมกัน
ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของยุโรป ก็กำลังอยู่ในภาวะปั่นป่วน โดยมีการเลิกจ้างคนงานหลายพันคน เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ต้องเผชิญกับตลาดที่หดตัวลง ต้นทุนที่สูงขึ้น การหันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของลูกค้าในตลาดที่ช้ากว่าที่คาดไว้ และการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากคู่แข่งจากจีน
โฟล์คสวาเก้น ได้ขู่สหภาพแรงงานของบริษัทว่า จะปิดโรงงานในเยอรมนีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 87 ปีของบริษัท โดยจะเลิกจ้างพนักงานและลดค่าจ้างเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไร เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของยุโรปรายนี้ประกาศว่าจะปิดโรงงาน Audi ในกรุงบรัสเซลส์ในปีหน้า
ในยุโรป Volkswagen กำลังเจรจาอย่างดุเดือด กับสหภาพแรงงานเรื่องการลดต้นทุน เนื่องจากบริษัทต้องดิ้นรนกับอุปสงค์ที่ลดลงและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมรถยนต์โลก ยังเตรียมรับมือกับการยกเลิกนโยบายที่เป็นมิตรต่อรถยนต์ไฟฟ้าของโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ตามที่สำนักข่าว Reuters รายงานว่า
การควบรวมกิจการใดๆ ก็ตาม จะต้องเผชิญการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากสหรัฐฯ และทรัมป์ได้ให้คำมั่นว่า จะดำเนินมาตรการที่เข้มงวดกับรถยนต์นำเข้า รวมถึงขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากแคนาดาและเม็กซิโกถึง 25% และเขาอาจคาดหวังกับการลงทุนจากฮอนด้าและนิสสัน ในสมัยแรกของเขา ทรัมป์ขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ญี่ปุ่น
ในเดือนมีนาคม ฮอนด้าและนิสสันตกลงที่จะร่วมมือกัน ในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า และในเดือนสิงหาคม ทั้งสองก็ได้กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยตกลงที่จะทำงานร่วมกัน ในด้านการพัฒนาแบตเตอรี่ เพลาขับเคลื่อนไฟฟ้า และเทคโนโลยีอื่นๆ
หนังสือพิมพ์ Nikkei รายงานว่า คาดว่าผู้ผลิตรถยนต์ทั้งสองจะลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งบริษัทที่ควบรวมกิจการกันใหม่ในเร็วๆ นี้
ฮอนด้าและนิสสันยังมองหาโอกาสที่จะชักชวนมิตซูบิชิมอเตอร์สเข้าร่วมด้วย ซึ่งนิสสันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 24% ภายใต้บริษัทโฮลดิ้ง
ในขณะที่ทางมิตซูบิชิยังไม่มีความเห็นใดๆในเรื่องนี้
Nissan ได้รับผลกระทบจากความต้องการรถยนต์ที่ลดลง ในตลาดจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายนี้ต้องลดต้นทุน
เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทรายงานว่า กำไรสุทธิครึ่งปีลดลงมากกว่า 90% เมื่อเทียบกับปีก่อน และลดการคาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานประจำปี ลงประมาณ 70%