ค่ายรถยนต์ญี่ปุน กำลังได้รับสัญญาณแจ้งเตือน ถึงการถดถอยของยอดขายรถยนต์ในอนาคต เมื่อจีนได้กลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก ในปี 2023 ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรก ส่งผลให้ญี่ปุ่น ต้องหล่นจากบัลลังค์ที่ครองมานานถึง 7 ปี โดยมี BYD เป็นผู้เล่นสำคัญ ที่ช่วยให้การส่งออกรถยนต์ของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และไทยก็เป็นตลาดสำคัญในต่างประเทศของ BYD ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม TOYOTA ยังทำได้ดีในด้านยอดขายทั่วโลก แต่ปัญหาก็คือ จะต้านทานกระแสรถยนต์จากจีน ได้นานแค่ไหน
ญี่ปุ่นส่งออกรถยนต์ 4.42 ล้านคันในปี 2023 เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนหน้า จากการเปิดเผยของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งญี่ปุ่น เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ปริมาณดังกล่าว ยังน้อยกว่าตัวเลขของจีนที่ทำได้ในปีที่แล้ว ที่ 4.91 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ถึง 58% ซึ่งเป็นข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศจีน ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ที่ญี่ปุ่นสูญเสียตำแหน่งแชมป์ไป เหตุการณ์ครั้งสุดท้ายในลักษณะเดียวกันนี้ เกิดขึ้นในปี 2016 เมื่อญี่ปุ่นถูกเยอรมนีเฉือนเอาชนะไปได้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนการส่งออกรถยนต์ของจีนพุ่งสูงขึ้น ก็คือตลาดรัสเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นและตะวันตก ถอนตัวออกไป เพื่อเป็นการตอบโต้ในเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน แรงหนุนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือการส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ของจีนที่เพิ่มขึ้นถึง 80% ซึ่งรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าด้วย
BYD คือค่ายรถยนต์ที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มยอดการส่งออกให้กับจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งล่าสุด ก็เพิ่งทำยอดขายแซงหน้า Tesla เป็นครั้งแรกในช่วงไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา โดยในปี 2022 บีวายดีได้ประกาศตัวเลขกำลังการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจำนวน 1.25 ล้านคัน แต่จริงๆแล้ว บริษัทสามารถผลิตได้มากกว่า 1.8 ล้านคันในปีนั้น และในปี 2023 บริษัทได้เพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ ไปอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านคัน ซึ่งสูงกว่ากำลังการผลิตของ Tesla ที่ 2.35 ล้านคันในปีเดียวกัน
บีวายดีได้ขยายโรงงานในประเทศจีนอย่างรวดเร็ว ด้วยความร่วมมือของรัฐบาลท้องถิ่น สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ระยะแรกของโครงการ ในการสร้างโรงงานในเมืองเหอเฟย มณฑลอานฮุย ใช้เวลาเพียง 10 เดือนเท่านั้น ตั้งแต่การเริ่มก่อสร้าง จนถึงการเปิดสายการผลิต โดยมีการคาดการณ์ว่า BYD จะขยายกำลังการผลิตรถยนต์ในโรงงานต่างๆ ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง และเมืองเจิ้งโจว ในมณฑลเหอหนาน ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ HuaAn ได้คาดการณ์ว่า กำลังการผลิตของ BYD จะเติบโตแตะระดับสูงกว่า 4.5 ล้านคันในปีนี้
ยอดขายในต่างประเทศของบีวายดี ในปี 2023 ที่ผ่านมา สูงถึง 240,000 คัน ในขณะที่ยอดรวมครึ่งหลังปี 2022 อยู่ที่เพียงประมาณ 50,000 คัน แสดงถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วในด้านยอดขาย ความสำเร็จในต่างประเทศของ BYD เป็นผลมาจากราคาที่เอื้อมถึงได้มากกว่า เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าจาก Tesla และ Volkswagen ในยุโรป รถยนต์ไฟฟ้าของ BYD มีราคาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 20-40% เลยทีเดียว คนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ยังช่วยกระตุ้นยอดขายของบีวายดีในยุโรปอีกด้วย ในขณะเดียวกัน บริษัทก็สามารถสร้างยอดขายในประเทศไทยได้เป็นกอบเป็นกำ
บีวายดีซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทผลิตแบตเตอรี่ สามารถสร้างส่วนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าภายในบริษัทได้ รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์และเบาะนั่ง โครงสร้างแบบนี้ ช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลง ในขณะที่ปริมาณการขายจำนวนมาก สามารถใช้ประโยชน์หลักการของ Economies of scale หรือการได้ต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำ จากการผลิตเป็นจำนวนมาก ในไตรมาสที่สามของปีที่แล้ว BYD มีอัตรากำไรสุทธิ 6.4% ใกล้กับ Tesla ซึ่งอยู่ที่ 7.9%
การสนับสนุนจากรัฐบาล มีส่วนสำคัญในการขยายกำลังการผลิตรถยนต์ของจีน
ในปี 2009 รัฐบาลได้รับรองแผนการที่จะนำรถยนต์พลังงานใหม่ เข้าสู่กระแสหลัก โดยให้เงินอุดหนุนการขายสำหรับยานพาหนะดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2022 เงินอุดหนุนเหล่านั้น มีมูลค่ารวมสูงถึง 300,000 ล้านหยวน (หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท) ตามรายงานของสื่อจีน ผู้ผลิตรถยนต์เอง ก็ถูกผลักดันให้เปลี่ยนไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนจะไม่อนุมัติโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่ หากไม่มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2020 รัฐบาลจีนได้ใช้ระบบโควต้าสำหรับการผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานใหม่อย่างเต็มรูปแบบ
“ความคิดและความรวดเร็วที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนใช้สำหรับการลงทุนนั้น ใกล้เคียงกับของบริษัททางด้านไอที” โคอิจิ อิกุจิ หุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ KPMG FAS กล่าว “รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ ในการทำให้รถยนต์ไฟฟ้่าเอื้อมถึงได้ง่ายขึ้น และบริษัทจีนก็เข้ามาครองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี”
แบรนด์ต่างประเทศยังเป็นส่วนสำคัญในการส่งออกของจีนอีกด้วย แม้ว่า BYD จะประสบความสำเร็จ แต่ Tesla ก็ยังเป็นผู้ส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่รายใหญ่ที่สุดจากประเทศจีนเมื่อปีที่แล้ว ด้วยจำนวน 340,000 คัน คิดเป็นเกือบ 30% ของการส่งออกทั้งหมด
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลจีนในการขยายการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ได้ร้องขอให้ Tesla ส่งออกรถยนต์ครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ผลิตได้ที่โรงงาน Gigafactory ในเซี่ยงไฮ้ ในช่วงที่บริษัทกำลังสร้างโรงงานอยู่
รัฐบาลจีนกำลังใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อวางตำแหน่งให้กับจีน ในฐานะมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมนี้ การเป็นผู้นำด้านการส่งออกรถยนต์ของประเทศ ถือเป็นเพียงก้าวเดียวในเส้นทางทั้งหมด โดยผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ กำลังเปลี่ยนไปมุ่งเน้นการผลิตในต่างประเทศแทน นับจากนี้ไป
เจ้าหน้าที่รัฐบาลรายหนึ่งคาดว่า จีนจะขายรถยนต์ในต่างประเทศได้ทั้งหมด 12 ล้านคันในปี 2030 โดยเป็นรถยนต์ส่งออกจากประเทศจีน 6 ล้านคัน และผลิตในต่างประเทศ 6 ล้านคัน อย่างไรก็ตาม ความพยายามของจีน ในการขยายการส่งออก มีจุดประสงค์ส่วนหนึ่ง เพื่อบรรเทาปัญหากำลังการผลิตในประเทศที่ล้นเหลือ โรงงานผลิตรถยนต์ของจีน ใช้กำลังการผลิตเพียง 54% ในปี 2022 ลดลงจาก 67% ในปี 2017
ยังมีการประมาณการณ์อีกว่า จีนจะสามารถผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ได้มากกว่า 36 ล้านคันในปี 2025 และคาดว่าจะจำหน่ายภายในประเทศได้ประมาณ 14 ล้านถึง 16 ล้านคันในปีนั้น ซึ่งจะทำให้มีรถยนต์ที่ถูกผลิตออกมา เกินความต้องการ มากกว่า 20 ล้านคัน ความต้องการภายในประเทศที่ลดลง อาจทำให้ปัญหาแย่ลงไปอีกในอนาคต ในขณะเดียวกัน บางประเทศอย่างเช่น ฝรั่งเศส และอิตาลี กำลังพิจารณาที่จะจำกัดการอุดหนุน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในเอเชีย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์ราคาถูกจากจีน ที่กำลังหลั่งไหลเข้ามา
อย่างไรก็ตาม ในด้านยอดขาย Toyota ยังเป็นอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ด้วยยอดขายในปี 2023 ที่ 11.22 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนหน้า แต่สำหรับปี 2024 นี้ อาจจะไม่ใช่ปีที่ง่ายของ Toyota เพราะเพิ่งปัญหาของการโกงตัวเลขการปล่อยมลพิษและความปลอดภัย จนต้องหยุดการขายและการส่งมอบรถยนต์ในหลายประเทศ รวมถึงเมืองไทยด้วย ในขณะที่ตลาดรถยนต์นั่ง ก็กำลังถูกค่ายรถยนต์จีน เข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป Toyota อาจจะไม่สามารถต้านทานกระแสรถยนต์จากจีนได้อีก คำถามจึงไม่ใช่ที่ว่า ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น จะกลายเป็นผู้ตามค่ายรถยนต์จากจีนในด้านยอดขาย ในอนาคตหรือไม่ แต่เป็นคำถามว่าเมื่อไรต่างหาก