เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ผู้บริหาร Ford ประเทศไทย เพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์ ในเรื่องโอกาสในการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ว่าทางบริษัท ยังไม่มีนโยบายในขณะนี้ แต่อาจจะต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปี กว่าที่จะเริ่มหันมาเจาะตลาด ทั้งนี้อาจจะเพราะในปัจจุบัน ทาง Ford ไม่ได้ทำตลาดรถยนต์นั่งอยู่แล้ว ซึ่งเป็นตลาดที่รถยนต์ไฟฟ้า กำลังได้รับความนิยมอยู่ ในขณะที่ตลาดรถกระบะปิกอัพ ที่บริษัทมีสินค้าอยู่ ก็ยังไม่มีวี่แววของความต้องการจากผู้ใช้รถ จึงทำให้บริษัท ยังมีเวลาในการเตรียมความพร้อมอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ผู้บริหาร Ford และ GM สำนักงานใหญ่ ได้ออกมาประกาศหาพันธมิตร ในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า เพื่อที่จะทำการแข่งขันกับบริษัทจีน ซึ่งกำลังเข้ามาเจาะตลาดอเมริกาและยุโรปอยู่ในตอนนี้ โดยรูปแบบของการลงทุน มีทั้งการวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงเรื่องของการเป็นแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยในปัจจุบัน ค่ายรถยนต์จากอเมริกาและตะวันตก หรือแม้แต่ญี่ปุ่น ได้รับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากคู่แข่งสัญชาติจีน โดยเฉพาะ BYD และผู้เล่นจากจีนรายอื่นๆ ที่สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ ในต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งได้เริ่มเข้าไปเจาะตลาดทั้งในยุโรป ละตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว โดย Jim Farley CEO ของ Ford เผยว่า หากบริษัท ไม่สามารถแข่งขันได้เทียบเท่ากับคู่แข่งจากจีนในตลาดโลก รายได้ 20-30% ของบริษัท ก็อาจจะหายไปในอนาคต การออกมาประกาศหาพันธมิตรของผู้บริหารระดับสูงของ Ford ก็เหมือนเป็นการเฉลยไปกลายๆว่า ทำไม Ford ประเทศไทย จึงยังไม่มีการขยับตัวในตลาดนี้ นอกเหนือไปจากเหตุผลของการทำตลาดรถกระบะ ที่ยังไม่มีความจำเป็น ในการใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าเหมือนรถยนต์นั่ง
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สื่อจีนได้นำเสนอข่าว ที่ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับข่าวที่ Reuters นำเสนอข้างต้น เพราะล่าสุด BYD ได้ขายสิทธิ์การผลิตเบลดแบตเตอรี่แบบ LFP ให้กับ supplier ของทั้ง Ford และ GM เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากการที่เป็นคู่แข่งกัน ได้กลายเป็นพันธมิตร ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในที่สุด เรียกว่า บริษัทจีน ได้อยู่เบื้องหลังค่ายรถยนต์สำคัญอื่นๆทั่วโลก ไปหลายต่อหลายบริษัทแล้ว ไม่ทางตรง ก็ทางอ้อม
Borgwarner supplier สำคัญของ Ford และ GM ได้ลงนามในข้อตกลงทางยุทธศาสตร์ กับ FinDreams Battery บริษัทในเครือของ BYD ประเทศจีน ในการผลิตแบตเตอรี่แบบ Lithium Ion Phosphate หรือ LFP สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยส่วนหนึ่งในข้อตกลงก็คือ BYD จะต้องจัดหาเซลล์เบลดแบตเตอรี่ให้กับทาง Borgwarner เพื่อใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ในยุโรป และอเมริกา โดยข้อตกลงนี้ มีอายุสัญญาอยู่ที่ 8 ปี นอกจากนั้นแล้ว Borgwarner ยังได้สิทธิ์ในการใช้ดีไซน์ และกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ของ BYD อีกด้วย
Borgwarner เป็น supplier ระดับ tier 1 สัญชาติอเมริกัน ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค โดยลูกค้าสำคัญของบริษัท ได้แก่ GM Ford Stellantis ซึ่งบริษัท เพิ่งเข้าไปทำธุรกิจในประเทศจีนเมื่อเร็วๆนี้ Borgwarner มีโรงงานทั้งหมด 11 แห่ง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มการผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าให้กับ Xpeng ค่ายรถยนต์ชื่อดังจากจีน สำหรับรถยนต์รุ่น X9 MPV และมีแผนใช้มอเตอร์ไฟฟ้ารุ่นเดียวกัน กับซีดานรุ่นใหม่ของ X-Peng ที่จะเปิดตัวในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้อีกด้วย นอกจากนั้น บริษัทอเมริกันรายนี้ ยังมีข่าวในการจัดหา dual inverter ให้กับบริษัทจีนรายหนึ่ง ที่สื่อจีนคาดว่าเป็น Great Wall Motor เพื่อนำไปใช้กับรถยนต์ของบริษัท ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ PHEV และ EREV ในขณะที่ Great Wall Motor ก็มีแผนเปิดตัวรถกระบะรุ่นใหม่ Poer Hi4-T ที่จะมาพร้อมระบบ EREV นอกเหนือไปจากรุ่น BEV และ PHEV
ในปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ได้หันไปให้ความสนใจแบตเตอรี่แบบ LFP ที่ BYD เป็นผู้เชี่ยวชาญ มากกว่าแบตเตอรี่แบบ NMC แม้ว่าความจุพลังงานจะน้อยกว่าก็ตาม แต่ราคาก็ถูกกว่าเช่นกัน แถมยังไม่จำเป็นที่จะต้องใช้แร่ธาตุหายากอย่างนิเกิล แมงกานิส และโคบอลต์ แม้แต่ Tesla เอง ก็ยังหันมาใช้แบตเตอรี่ LFP ของ BYD สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่น ทางฝั่งของ Ford ก็เคยประกาศตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ LFP ในรัฐมิชิแกนมาก่อน เพื่อแสดงศักยภาพของบริษัทอเมริกันว่า สามารถพึ่งพาตัวเอง ในด้านเทคโนโลยีชนิดนี้ได้ แต่ในภายหลัง โรงงานดังกล่าว กับใช้ know-how และเซลล์แบตเตอรี่ของ CATL ซึ่งก็ยังเป็นบริษัทจากประเทศจีนอยู่ดี ส่วนทาง BYD ก็กำลังขยายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ไปสู่ยุโรป ด้วยการตั้งโรงงานในประเทศฮังการี และมีข่าวการเตรียมสร้างโรงงานแห่งใหม่ในประเทศเม็กซิโกด้วย หลังจากที่ได้เปิดโรงงานในประเทศไทย และเตรียมสร้างโรงงานแห่งใหม่ ในประเทศอินโดนีเซียไปแล้ว โดยสื่อต่างประเทศเชื่อว่า จะมีค่ายรถยนต์อีกหลายค่าย ที่จะหันมาใช้แบตเตอรี่จาก BYD ในอนาคต ทำให้บริษัทจากจีน กำลังจะกลายเป็นผู้ผูกขาดตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของโลก ไปโดยปริยาย