ถือว่าเป็นเดือนที่สร้างความผิดหวังให้กับค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของไทย อย่าง Isuzu และ Toyota อีกครั้ง และถือว่าสาหัสที่สุดเดือนหนึ่ง เพราะยอดขายรถกระบะ Pure pickup หดตัวมากถึง 45.0% ลดลงมากเป็นประวัติการณ์ งานนี้เรียกว่า การปรับโฉม อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะตลาดไม่มีกำลังซื้อ แต่ก็ถือว่าแต่ละค่าย ก็ประสบปัญหาเดียวกันทั้งหมด มากบ้างน้อยบ้าง แตกต่างกันไป
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนกันยายน 2566 ด้วยยอดขาย 62,086 คัน ลดลง 16.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่รถยนต์นั่งยังเติบโตต่อเนื่องด้วยยอดขาย 25,425 คัน เติบโต 10.4% ส่วนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ชะลอตัวต่อเนื่องด้วยยอดขาย 36,661 คัน ลดลง 28.3% โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ ชะลอตัวอย่างหนักด้วยยอดขาย 23,343 คัน ลดลง 43.6% จากการชะลอการตัดสินใจซื้ออย่างต่อเนื่องของภาคประชาชน และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคธุรกิจขนส่ง อันเป็นผลมาจากภาพรวมทางเศรษฐกิจ ที่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว โดยมีอุปสรรคสำคัญคือความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ที่มีความกังวลต่อหนี้เสียอันเป็นผลต่อเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
ตลาดรถยนต์ตุลาคมเดินหน้าเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นส์ไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งค่ายรถยนต์ต่างทยอยเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ พร้อมด้วยแคมเปญส่งเสริมการขายเพื่อหวังกระตุ้นยอดขาย อย่างไรก็ตามความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวของตลาดรถยนต์ต่อไป
ยอดขายรถกระบะ Pure Pickup ประจำกันยายน ปี 2566
มีปริมาณการขาย 19,114 คัน ลดลง 45.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 7,955 คัน ลดลง 56.9 % ส่วนแบ่งตลาด 41.6%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 7,940 คัน ลดลง 23.6% ส่วนแบ่งตลาด 41.5%
อันดับ 3 Ford Ranger 2,010 คัน ลดลง 44.2% ส่วนแบ่งตลาด 10.5%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 757 คัน ลดลง 50.8% ส่วนแบ่งตลาด 4.0%
อันดับ 5 Nissan Navara 311 คัน ลดลง 1.6% ส่วนแบ่งตลาด 1.6%
อันดับ 6 MG Extender 75 คัน ลดลง 57.9% ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
อันดับ 7 Mazda BT-50 66 คัน ลดลง 75.5% ส่วนแบ่งตลาด 0.3%
แม้ว่า Isuzu D-MAX รุ่นปรับโฉมใหม่ ยังไม่ได้แผลงฤทธิ์ แต่ D-MAX ก็ดีพอ ที่จะรักษาตำแหน่งอันดับ 1 ของเดือนกันยายนเอาไว้ได้ แม้ว่าเกือบจะพลาดให้อันดับ 2 อย่าง Toyota Hilux Revo ก็ตาม เพราะมีระยะห่างเพียง 15 คันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยอดขายของ D-MAX ลดลงถึง 56.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ Hilux Revo ยอดขายลดลงไปน้อยกว่า ที่ 23.6% โดยทั้งตลาด มียอดขายตกลงกันถ้วนหน้า ถือว่าเป็นปีที่หนักหนาสาหัส สำหรับตลาดรถกระบะอย่างแท้จริง เพราะมียอดขายทั้งตลาด ลดลงถึง 45.0% สวนทางกับตลาดรถยนต์นั่ง ที่ยังมีการเติบโตอยู่ ที่น่าเห็นใจ ก็คงจะเป็น Mitsubishi Triton ที่อุตส่าห์เปิดตัวเจนเนอเรชั่นใหม่ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ดูเหมือนว่าความสดใหม่แทบจะไม่ได้ช่วยอะไร เพราะยอดขายยังห่างไกลอันดับ 3 Ford Ranger อยู่มาก อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องให้เวลา Triton อีกสักนิด ว่าโฉมใหม่ จะสามารถกอบกู้สถานการณ์กลับมาได้หรือไม่ แต่ก็ต้องเจอกับ D-MAX ที่เพิ่งเปิดตัวรุ่นปรับโฉมใหม่ไปหมาดๆ
ยอดขายรถกระบะ Pure Pickup ใน 9 เดือนแรก ปี 2566
มีปริมาณการขาย 208,669 คัน ลดลง 28.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 91,609 คัน ลดลง 33.1 % ส่วนแบ่งตลาด 43.9%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 83,001 คัน ลดลง 23.9% ส่วนแบ่งตลาด 39.8%
อันดับ 3 Ford Ranger 19,503 คัน ลดลง 14.0% ส่วนแบ่งตลาด 9.3%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 10,497 คัน ลดลง 38.3% ส่วนแบ่งตลาด 5.0%
อันดับ 5 Nissan Navara 2,579 คัน ลดลง 42.3% ส่วนแบ่งตลาด 1.2%
อันดับ 6 Mazda BT-50 742 คัน ลดลง 32.7% ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
อันดับ 7 MG Extender 738 คัน ลดลง 66.4% ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
Isuzu D-MAX มียอดขายสะสมใน 9 เดือนแรก นำห่าง Toyota Hilux Revo ถึง 8,608 คัน น่าจะเพียงพอที่จะพาให้กลายเป็นแชมป์รถกระบะและรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดในประเทศไทย เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน เพราะอย่าลืมว่า ยอดขายในเดือนต่อๆมา Isuzu ได้เริ่มจำหน่าย D-MAX รุ่นปรับโฉมใหม่เข้าไปด้วย ที่น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดได้พอสมควร แต่อาจจะไม่ได้มากเหมือนสภาวะปกติ ที่ตลาดมีกำลังซื้อ ถือว่าน่าพอใจสำหรับ ISUZU จากการเป็นแชมป์ได้อีกสมัย แต่ในด้านยอดขายแล้ว ก็ต้องบอกว่า ปีนี้ซบเซายิ่งกว่าเดิม เพราะยอดขายหดหายไปถึง 1 ใน 3 หรือ 33% เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไทยมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ มาตรการทางเศรษฐกิจต่างๆ ก็คงจะมีการนำมาปฏิบัติใช้อย่างเร่งด่วน เพื่อทำการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและเดินหน้าต่อไป แต่กว่าจะเห็นผล ก็อาจจะล่วงเลยปีนี้ไปแล้ว