หลังจากที่สัญญาณหนี้เสียเพิ่ม ธนาคารควบคุมการปล่อยกู้ใหม่ ลูกค้าไม่สามารถผ่อนรถได้ต่อ ดอกเบี้ยสูงขึ้น ค่าครองชีพแพง จนธุรกิจลานประมูลรถยนต์ ขยายพื้นที่รับรถยึดเพิ่มต่อเนื่อง ทำให้มีการคาดกาารณ์ว่า ทั้งปี 2566 จะมีการยึดรถยนต์ราว 2.5 แสนคัน โดยใน 5 เดือนแรก มีการยึดมาแล้วเกือบ 9 หมื่นคัน ในขณะที่ตลาดมอเตอร์ไซค์ ก็ไม่ต่างกัน รถถูกยึดเดือนละเกือบ 3 แสนคัน
ล่าสุด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนพฤษภาคม 2566 ด้วยยอดขาย 65,088 คัน เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งเป็นเซกเมนต์สำคัญที่ผลักดันการเจริญเติบโตของตลาดรถยนต์เดือนนี้ที่ 29.4% ด้วยยอดขาย 25,985 คัน ในขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์ชะลอตัวต่อเนื่องที่ 12.4% ด้วยยอดขาย 39,103 คัน ในส่วนของตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ชะลอตัวเช่นกันที่ 19.2% ด้วยยอดขาย 27,323 คัน เป็นผลมาจากการชะลอการตัดสินใจซื้ออย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อรอความชัดเจนทางด้านนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ECO Car มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเดินทางที่เป็นส่วนตัวของประชาชนภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด
ตลาดรถยนต์ในเดือนมิถุนายน ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง จากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ยังดำเนินต่อไป รวมทั้งความมั่นใจของผู้บริโภคที่ยังไม่ดีขึ้น ตลอดจนความเข้มงวดของสถาบันการเงินที่มีความกังวลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค อันส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการผ่อนชำระของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ที่ต้องการความคล่องตัวทางเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ
ปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ Pure Pickup ประจำเดือนพฤษภาคม 2566
มีปริมาณการขาย 22,427 คัน ลดลง 23.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 10,055 คัน ลดลง 22.0% ส่วนแบ่งตลาด 44.8%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 8,637 คัน ลดลง 27.2% ส่วนแบ่งตลาด 38.5%
อันดับ 3 Ford Ranger 2,286 คัน เพิ่มขึ้น 24.8 % ส่วนแบ่งตลาด 10.2%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 1,022 คัน ลดลง 46.3 % ส่วนแบ่งตลาด 4.6%
อันดับ 5 Nissan Navara 230 คัน ลดลง 44.4 % ส่วนแบ่งตลาด 1.0%
อันดับ 6 Mazda BT-50 106 คัน เพิ่มขึ้น 20.5 % ส่วนแบ่งตลาด 0.5%
อันดับ 7 MG Extender 91 คัน ลดลง 63.0 % ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
แม้ว่าทั้งตลาด ยอดขายจะลดลงถึง 23.3% หรือเกือบ 1 ใน 4 ของยอดขายทั้งหมด แต่อันดับยอดขายยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดย Isuzu D-MAX ยังเดินหน้าเป็นจ่าฝูงในตลาดเหมือนเดือนก่อนๆ ทิ้งระยะห่างจากที่ 2 อย่าง Toyota Hilux Revo อยู่ถึง 15% ทำให้เดือนล่าสุด สามารถครองตลาดได้เกือบครึ่งหนึ่ง ส่วน Ford Ranger เป็นเพียง 2 รายในตลาด นอกเหนือไปจาก Mazda BT-50 ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ Mitsubishi Triton ยอดขายลดลงฮวบ เพราะตลาดรับรู้ถึงการเตรียมเปิดตัวเจนเนอเรชั่นใหม่ในวันที่ 26 กรกฏาคมที่จะถึง MG Extender นอกจากยอดขายจะต่ำสุดแล้ว ยอดขายยังลดลงมากที่สุดด้วย
สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ Pure Pickup ใน 5 เดือนแรกของปี 2566
มีปริมาณการขาย 127,546 คัน ลดลง 22.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 57,587 คัน ลดลง 23.5% ส่วนแบ่งตลาด 45.1%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 49,540 คัน ลดลง 23.3% ส่วนแบ่งตลาด 38.8%
อันดับ 3 Ford Ranger 11,796 คัน เพิ่มขึ้น 14.6 % ส่วนแบ่งตลาด 9.2%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 6,251 คัน ลดลง 37.3 % ส่วนแบ่งตลาด 4.9%
อันดับ 5 Nissan Navara 1,427 คัน ลดลง 51.8 % ส่วนแบ่งตลาด 1.1%
อันดับ 6 Mazda BT-50 474 คัน เพิ่มขึ้น 10.5 % ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
อันดับ 7 MG Extender 471 คัน ลดลง 64.3 % ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
ภาพรวมใน 5 เดือนแรกมีทิศทางเหมือนยอดขายรายเดือน คือมียอดขายลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนในตัวที่ใกล้เคียงกัน คือที่ 22.6% โดยมี Isuzu D-MAX นำห่าง Toyota Hilux Revo ถึง 8,000 กว่าคัน Ford Ranger ตามมาห่างๆเป็นอันดับ 3 ยอดขายมากกว่าอันดับ 4 Mitsubishi Triton เกือบเท่าตัว ส่วน 2 อันดับสุดท้าย Mazda BT-50 และ MG Extender มียอดขายห่างกันเพียง 3 คันเท่านั้น หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราน่าจะได้เห็นการเรียงลำดับใน 5 รุ่นแรก เป็นแบบนี้ไปจนถึงสิ้นปี เว้นเสียแต่ว่า All-New Triton จะใช้เวลาที่เหลือในช่วงปลายปี ทำยอดขายแซง Ranger ขึ้นมาเป็นที่ 3 ได้ แต่ด้วยแนวโน้มที่มียอดขายทั้งตลาดลดลง และความไม่ชัดเจน ความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่มีอยู่สูง และค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าไฟที่สูงขึ้นมาก น่าจะทำให้ตลอดรถกระบะปิกอัพอาจจะหดตัวลงได้อีก การเปิดตัว All-New Mitsubishi Triton อาจจะไม่ปังอย่างที่ควรจะเป็น งานนี้ต้องบอกว่าเจ็บกันหมดทั้งตลาด ซึ่งแม้ว่า Isuzu D-MAX จะสามารถครองแชมป์ได้อีกปี แต่ในมุมมองด้านธุรกิจแล้ว บริษัทก็ไม่น่าจะพอใจกับยอดขายที่ทำได้ในปีนี้มากนัก อย่างไรก็ตาม คนไทยยังมีลุ้นกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นก็คือรัฐบาลใหม่ ว่าจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน มีมาตรการทางด้านเศรษฐกิจแบบใดในการกระตุ้นตลาด สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศมากน้อยแค่ไหน