แม้ว่าปีนี้ ตลาดรถยนต์เริ่มมีสัญญาณลบชัดเจนอย่างต่อเนื่อง จนมีการคาดการณ์ว่า จะมีการยึดรถยนต์ราว 2.5 แสนคัน เฉพาะ 5 เดือนแรก มีการยึดรถไปแล้วเกือบ 9 หมื่นคัน แต่ค่ายญี่ปุ่น ที่มีรถยนต์จำหน่ายเพียง 2 รุ่น ในตลาดรถขนาดเล็กอย่าง Isuzu กลับทำผลงานได้ดี ในด้านยอดขาย เมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากยอดขายรวมที่ลดลงจากปีก่อน ในตลาดรถกระบะ pure pickup ก็ตาม ซึ่งจากรายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนพฤษภาคม 2566 โดยบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ยอดขายรถยนต์มีจำนวนทั้งสิ้น 65,088 คัน เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์นั่งเป็นเซกเมนต์สำคัญที่ผลักดันการเจริญเติบโตของตลาดรถยนต์เดือนนี้ที่ 29.4% ด้วยยอดขาย 25,985 คัน ในขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์ชะลอตัวต่อเนื่องที่ 12.4% ด้วยยอดขาย 39,103 คัน ในส่วนของตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ชะลอตัวเช่นกันที่ 19.2% ด้วยยอดขาย 27,323 คัน เป็นผลมาจากการชะลอการตัดสินใจซื้ออย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อรอความชัดเจนทางด้านนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ECO Car มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเดินทางที่เป็นส่วนตัวของประชาชนภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด
ตลาดรถยนต์ในเดือนมิถุนายน ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง จากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่ยังดำเนินต่อไป รวมทั้งความมั่นใจของผู้บริโภคที่ยังไม่ดีขึ้น ตลอดจนความเข้มงวดของสถาบันการเงินที่มีความกังวลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค อันส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการผ่อนชำระของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ที่ต้องการความคล่องตัวทางเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ
ปริมาณการจำหน่ายรถกระบะดัดแปลง PPV ประจำเดือนพฤษภาคม 2566
มีปริมาณการขาย 4,896 คัน เพิ่มขึ้น 6.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu MU-X 2,076 คัน เพิ่มขึ้น 60.1% ส่วนแบ่งตลาด 42.4%
อันดับ 2 Toyota Fortuner 1,568 คัน ลดลง 23.4% ส่วนแบ่งตลาด 32.0%
อันดับ 3 Ford Everest 707 คัน เพิ่มขึ้น 62.5% ส่วนแบ่งตลาด 14.4%
อันดับ 4 Mitsubishi Pajero Sport 460 คัน ลดลง 34.5% ส่วนแบ่งตลาด 9.4%
อันดับ 5 Nissan Terra 85 คัน ลดลง 17.5% ส่วนแบ่งตลาด 1.7%
ในเดือนล่าสุดนี้ Isuzu MU-X สร้างเซอร์ไพรซ์ได้อีกครั้ง ด้วยการทำยอดขายได้มากกว่า Toyota Fortuner ถึง 500 กว่าคัน ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 42.4% เป็นอีกตลาดหนึ่งที่ Isuzu ต้องการเอาชนะ Toyota เพื่อที่จะได้ชื่อว่า เป็นแชมป์ในตลาดรถกระบะ 1 ตัน จากรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นที่จำหน่ายในเมืองไทย แม้ว่ายอดขายจะถือว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับรถกระบะ Pure pickup และถือว่า MU-X สวนกระแสด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 60% เหมือนกับ Ford Everest ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่เท่าๆกัน สำหรับ Mitsubishi Pajero Sport ก็ยังต้องรักษาสภาพไปจนกว่าการเปิดตัวเจนเนอเรชั่นใหม่ที่คาดว่าน่าจะได้เห็นในครึ่งหลังของปีหน้า 2024 เป็นอย่างเร็ว
สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถกระบะดัดแปลง PPV ใน 5 เดือนแรกของปี 2566
มีปริมาณการขาย 28,067 คัน เพิ่มขึ้น 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Toyota Fortuner 10,201 คัน ลดลง 15.1% ส่วนแบ่งตลาด 36.3%
อันดับ 2 Isuzu MU-X 9,946 คัน เพิ่มขึ้น 32.1% ส่วนแบ่งตลาด 35.4%
อันดับ 3 Ford Everest 5,106 คัน เพิ่มขึ้น 176.0% ส่วนแบ่งตลาด 18.2%
อันดับ 4 Mitsubishi Pajero Sport 2,290 คัน ลดลง 34.3% ส่วนแบ่งตลาด 8.2%
อันดับ 5 Nissan Terra 524 คัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนแบ่งตลาด 1.9%
สำหรับยอดขายสะสมใน 5 เดือนแรก น่าสนใจว่า แม้ว่า Isuzu MU-X จะยังเป็นรอง Toyota Fortuner อยู่ แต่ระยะห่างมีเพียง 255 คันเท่านั้น โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 32.1% ในขณะที่ Fortuner ยอดลดลงราว 15% นั่นหมายความว่าหลังจากนี้ อันดับ 1 และ 2 สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทั้งรายเดือนและยอดขายสะสม และมีโอกาสที่ Isuzu จะพยายามทุกวิถีทางที่จะเอาชนะ Toyota ให้ได้ในตลาดนี้ เพื่อการครองแชมป์ในตลาดรถขนาดเล็กทุกรุ่น ที่บริษัทจำหน่ายในเมืองไทย ซึ่งก็มีเพียง 2 รุ่นเท่านั้น ไม่รวมตลาดรถบรรทุก ส่วน Ford Everest ถือว่าทำผลงานได้ดีมาก ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 176% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เรียกว่าเกินครึ่งของ Fortuner ไปแล้ว ในขณะที่ Pajero Sport และ Terra ก็น่าจะยังอยู่ในอันดับ 4 และ 5 ตามลำดับ ไปจนถึงสิ้นปี