ในขณะที่ Vinfast ค่ายรถยนต์ของเวียดนาม ประกาศเตรียมบุกตลาดอาเซียน ดูเหมือนว่าหนึ่งในตลาดสำคัญอย่างไทย อาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนัก สำหรับผู้เล่นรายใหม่จากเวียดนาม เพราะจากยอดขายรถยนต์ในเดือนล่าสุด พบว่าทุกเซ็กเมนท์มีการชะลอตัว และอาจจะต้องใช้เวลาอีก 3-4 เดือน กว่าจะเห็นความชัดเจนของรัฐบาลใหม่ และตลาดรถกระบะปิกอัพที่มีการแข่งขันสูง แต่มีส่วนแบ่งทางการตลาดกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ก็ยังได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า แม้ว่าจะไม่ใช่เซกเมนต์ที่ Vinfast เข้ามาเจาะตลาดก็ตาม
รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนเมษายน 2566 โดย โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย พบว่าตลาดมีการชะลอตัว ด้วยยอดขาย 59,530 คัน ลดลง 6.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์นั่งมีปริมาณการขาย 20,203 คัน ลดลง 1.4% ในขณะที่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีปริมาณการขาย 39,327 คัน ลดลง 8.4% และรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้จำนวน 26,818 คัน ลดลงถึง 20.3%
ประเด็นหลักที่ทำให้ตลาดรถยนต์ในเดือนนี้ชะลอตัวอยู่ที่ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน ซึ่งลดลงถึง 20.3% ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอการตัดสินใจซื้อของภาคธุรกิจ และภาคประชาชนในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจหลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด ที่มียอดสั่งซื้อรถยนต์ทุกประเภทเข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา
ตลาดรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงของการเลือกตั้ง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการชะลอการตัดสินใจซื้อ ซึ่งภาคประชาชน และภาคเอกชนต่างเฝ้ารอความชัดเจนในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไป
ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ประจำเดือนเมษายน 2566
มีปริมาณการขาย 21,874 คัน ลดลง 24.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 10,204 คัน ลดลง 27.9% ส่วนแบ่งตลาด 46.6%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 8,349 คัน ลดลง 19.8% ส่วนแบ่งตลาด 38.2%
อันดับ 3 Ford Ranger 2,032 คัน ลดลง 8.1 % ส่วนแบ่งตลาด 9.3%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 904 คัน ลดลง 46.1 % ส่วนแบ่งตลาด 4.1%
อันดับ 5 Nissan Navara 207 คัน ลดลง 44.9 % ส่วนแบ่งตลาด 0.9%
อันดับ 6 Mazda BT-50 112 คัน เพิ่มขึ้น 119.6 % ส่วนแบ่งตลาด 0.5%
อันดับ 7 MG Extender 66 คัน ลดลง 66.8 % ส่วนแบ่งตลาด 0.3%
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้งตลาดมียอดขายลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แม้ว่า Mazda จะทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ก็เป็นยอดขายที่น้อยนิด เพียง 112 คัน ISUZU D-MAX ที่มียอดขายลดลงถึง 27.9% แต่ก็สามารถทิ้งระยะห่างจากอันดับ 2 อย่าง Toyota Hilux Revo ได้ถึง 1,855 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบครึ่งหนึ่ง คือที่ 46.6% ในขณะที่ Ford Ranger ที่มียอดขายลดลงน้อยที่สุดเป็นตัวเลขเพียงหลักเดียว ก็ยังใช้ความสดใหม่ ดึงดูดลูกค้าเข้ามาได้มากกว่าค่ายอื่น และแน่นอนว่า หากไม่นับ MG Extender Mitsubishi Triton มียอดขายลดลงมากที่สุดในตลาด สาเหตุหลักก็เนื่องมาจากการชะลอซื้อเพื่อรอการเปิดตัว Triton เจนเนอเรชั่นใหม่ในเดือนกรกฏาคมนี้
สำหรับตลาดรถกระบะ Pure Pick up ใน 4 เดือนแรกของปี 2566
มีปริมาณการขายรวม 105,119 คัน ลดลง 22.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 47,532 คัน ลดลง 23.8% ส่วนแบ่งตลาด 45.2%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 40,903 คัน ลดลง 22.4% ส่วนแบ่งตลาด 38.9%
อันดับ 3 Ford Ranger 9,510 คัน เพิ่มขึ้น 12.4 % ส่วนแบ่งตลาด 9.0%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 5,229 คัน ลดลง 35.1 % ส่วนแบ่งตลาด 5.0%
อันดับ 5 Nissan Navara 1,197 คัน ลดลง 52.9 % ส่วนแบ่งตลาด 1.1%
อันดับ 6 MG Extender 380 คัน ลดลง 64.6 % ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
อันดับ 7 Mazda BT-50 368 คัน เพิ่มขึ้น 7.9 % ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
สำหรับยอดขายสะสมใน 4 เดือนแรกของปี Isuzu D-MAX สามารถนำห่าง Toyota Hilux Revo ไปได้ถึงเกือบ 7,000 คัน ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 45.2% แต่ทั้งสองค่าย กลับมียอดขายลดลงจากปีก่อนใกล้เคียงกันคือที่ 22-24% นั่นหมายความว่า ถ้าการเปลี่ยนแปลงของยอดขายเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ไม่แตกต่างกันมากไปจนถึงสิ้นปี โอกาสที่ Isuzu D-MAX จะครองแชมป์เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน จึงมีอยู่สูง โอกาสลุ้นที่ Toyota Hilux Revo จะพลิกเกมได้ ก็คือการเปิดตัวรุ่นใหม่ในช่วงกลางปีไปจนถึงปลายปี ทั้งรุ่นไฮบริดตามที่มีข่าว รุ่น REVO BEV ที่เป็นรถกระบะไฟฟ้าแบตเตอรี่ รวมไปถึงรุ่นพิเศษหรือรุ่นใหม่ที่มักจะปล่อยออกมากระตุ้นตลาดในช่วงกลางปี แต่ก็อย่าลืมว่า isuzu จะแก้เกมหลังจากนั้นในทุกปีเช่นกัน แม้ว่าจะยังไม่มีข่าวของรุ่นไฺฮบริดหรือไฟฟ้าสำหรับปีนี้ก็ตาม และก็น่าจะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์สำหรับตลาดใหม่ๆไปก่อน จนกว่าความต้องการจะชัดเจนหรือมากพอที่ทำให้ Isuzu มองว่า ถึงเวลาลงมาแข่งขันในตลาดไฮบริดหรือไฟฟ้าแล้วจริงๆ สำหรับอันดับ 3 Ford Ranger ก็น่าจะยังมีระยะห่างจากอันดับ 4 Mitsubishi Triton เท่าตัว จนกว่าทาง Mitsubishi จะมีการเปิดตัวโฉมใหม่ในเดือน 7 ของปี ทำให้มีลุ้นเหมือนกันว่า Triton จะใช้เวลาของครึ่งปีหลัง ทำยอดขายขึ้นมาแซงหรือใกล้เคียง Ranger ได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนส่งมอบรถใหม่ของ Mitsubishi ภายในปีนี้ด้วย แต่ด้วยการที่ในช่วง 3 เดือนจากนี้ ตลาดมีการชะลอการซื้อจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ก็น่าจะเป็นผลดีสำหรับค่ายที่จะเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง ที่เชื่อว่า จะมีความชัดเจนในด้านการเมืองแล้วในช่วงนั้น ทำให้การตัดสินใจซื้อที่ถูกชะลอไว้ จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเอง ก็มีทางเลือกที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นเช่นกัน นั่นทำให้อันดับ 3 และ 4 อาจจะยังมีลุ้นสลับตำแหน่งกันได้อยู่ แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับ Triton เพราะ Ranger ก็ยังมีความสดใหม่ในตลาดอยู่เช่นกัน