เผยสาเหตุ 3 ค่ายใหญ่! ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ยังตามหลังเพื่อน แต่ทำไมเปย์หนักมาก?

งานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 ที่ผ่านมา ยอดจองรถยนต์ไฟฟ้า มีมากถึง 9,234 คัน คิดเป็น 21.53% ของยอดจองรถยนต์ในงานทั้งหมด 42,885 คัน เติบโตขึ้นจากปีก่อน 34.45% ถือว่าเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ที่สำคัญอีกปีหนึ่ง และนั่นอาจจะเป็นเหมือนการส่งสัญญาณ ไปถึงค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ที่หลายฝ่ายมองว่า ยังตามหลังทั้งค่ายรถยนต์จากจีน ยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่เกาหลีใต้ แต่ทันทีที่มีข่าวว่า 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย ให้โบนัสพนักงาน 7-8 เดือน พร้อมเงินพิเศษ จึงทำให้หลายคนเชื่อว่า การเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ยังไม่ได้ทำให้ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบมากมาย เหมือนอย่างที่หลายคนเคยคิดเอาไว้ โดยเฉพาะ Toyota ที่เรียกว่า ถูกรุมกินโต๊ะในทุกเซกเมนต์ ก็ประกาศแจกโบนัสให้พนักงาน ถึง 7.5 เดือน บวกเงินพิเศษ อีก 3.8 หมื่นบาท ส่วน Isuzu ก็ไม่ยอมน้อยหน้า แจกโบนัสสูงสุด 8.5 เดือน บวกเงินพิเศษสูงสุด อีก 42,500 บาท ในขณะที่ Honda ให้โบนัส 5.8-7 เดือน และบวกเพิ่มเงินพิเศษสูงสุด 55,000 บาท ทั้งนี้ บริษัทย่อยของแต่ละค่ายรถยนต์ อาจมีตัวเลขโบนัส และเงินเพิ่มพิเศษแตกต่างกันไป

ผลประกอบการของ TOYOTA ประเทศไทย

เบื้องหลังที่ทำให้แต่ละค่ายรถยนต์ สามารถแจกโบนัสให้กับพนักงาน ได้เป็นจำนวนหลายเดือน ก็เป็นผลมาจากการมีผลประกอบการที่ยอดเยี่ยม ในปี 2565 ที่ผ่านมานั่นเอง ที่ถูกแสดงออกมาทางกำไรสุทธิ ที่แต่ละบริษัททำได้ โดยเฉพาะ 2 เจ้าตลาดอย่าง Toyota และ Isuzu ที่ทำกำไรสุทธิ ทะลุ 2 หมื่นล้านบาท ในปีที่ผ่านมา เรียกว่า ทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปีเลยทีเดียว โดย Toyota ทำตัวเลขได้สูงถึง 27,610 ล้านบาท จากที่ปีก่อนหน้านั้น ทำได้เพียง 11,300 ล้านบาท ในขณะที่ Isuzu ทำกำไรสุทธิในปีที่ผ่านมา ได้ที่ 20,426 ล้านบาท น้อยกว่า Toyota อยู่ถึง 7,000 กว่าล้านบาท แต่ในปีก่อน Isuzu ทำกำไรสุทธิ ได้มากกว่า Toyota ถึง 4,000 กว่าล้านบาท เรียกว่าผลัดกันแพ้ชนะในเรื่องของผลกำไร แต่เมื่อดูที่ยอดขาย หรือรายได้รวมแล้ว จะพบว่า Isuzu มียอดขายไม่ถึงครึ่งหนึ่งของ Toyota ด้วยซ้ำ จากการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่าย ที่ทำได้ดีกว่า จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไม Isuzu ยังรักษาแนวทางเดิม ในการทำตลาดรถยนต์เพียงไม่กี่ประเภทเท่านั้น ในขณะที่ Honda ที่มียอดขายใกล้เคียงกับ Isuzu กลับมีกำไรสุทธิต่ำกว่า isuzu หลายเท่าตัว ในช่วง 2 ปีหลัง แต่ก็ยังมีกำไรมากพอ ที่จะไปจ่ายโบนัสได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็ต้องมาลุ้นกันในปีต่อๆไป เพราะทิศทางของบริษัท ทั้งในด้านยอดขายและกำไรสุทธิ มีแนวโน้มลดลง

ผลประกอบการของ ISUZU ประเทศไทย

การที่ Toyota และ Isuzu ยังมีความแข็งแกร่งในการด้านผลประกอบการ ทั้งๆที่ตลาดของไทย มีแนวโน้มเปลี่ยนไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว ก็เพราะทั้งสองบริษัท ยังทำผลงานได้ดีมาก ในตลาดรถกระบะปิกอัพ ที่เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ กินส่วนแบ่งตลาด ราวครึ่งหนึ่งของทั้งหมด นอกจากนั้น ณ เวลานี้ ยังไม่มีสัญญาณถดถอย ของตลาดรถกระบะใช้น้ำมันออกมาให้เห็น อาจจะเพราะยังไม่มีตัวเลือกอื่น ให้ได้ลองกัน อีกทั้งตลาด ก็ยังไม่มั่นใจว่า รถกระบะไฟฟ้า จะตอบโจทย์การใช้งาน ได้ดีกว่ารถกระบะใช้น้ำมัน หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน นั่นทำให้ 2 เจ้าตลาด ก็น่าจะยังมีเวลาปรับตัว ก่อนที่รถยนต์ไฟฟ้า จะกลายมาเป็นทางเลือกหลักในอนาคต

ผลประกอบการของ HONDA ประเทศไทย

เปรียบเทียบกำไรสุทธิของ 3 ค่ายรถยนต์เจ้าตลาดจากญี่ปุ่น
TOYOTA ISUZU HONDA
ปี 2565 27,610 20,426 5,013
ปี 2564 11,300 15,767 3,649
ปี 2563 12,486 14,119 11,648
ปี 2562 21,464 15,758 12,785
ปี 2561 16,328 12,086 8,020
หมายเหตุ – หน่วยเป็นล้านบาท

[yourchannel video=”IWvbeAC9OLE” autoplay=”1″ show_comments=”1″]