ถือว่ากระทบรายได้ของบริษัทไม่น้อย เมื่อมีประเด็นปัญหา เกี่ยวกับผลทดสอบการชนด้านข้าง ของรถยนต์ขนาดเล็ก Toyota 3 รุ่น โดยหนึ่งในนั้นคือ Toyota Yaris Ativ ที่ถือว่าเป็นรถ eco car และซีดานขนาดเล็ก ที่มีจำหน่ายในเมืองไทย และขายดีที่สุดในเซกเมนต์ ด้วยยอดขายใน 3 เดือนแรกของปีนี้ ที่ 18,000 กว่าคัน ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่าง Honda City ถึง 3 เท่าตัว ทำให้กลุ่มลูกค้าที่ซื้อรุ่นดังกล่าวไปแล้ว เกิดความกังวลใจในเรื่องของความปลอดภัย และคนที่กำลังพิจารณา จะซื้อรถรุ่นนี้อยู่ เกิดความลังเลใจ นั่นทำให้ Toyota ต้องทำเอกสารชี้แจงอย่างเป็นทางการ ถึงปัญหาดังกล่าว ดังต่อไปนี้
บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (โตโยต้า) ได้รับแจ้งเกี่ยวกับข้อบ่งชี้ ถึงความไม่สมบูรณ์ของการเตรียมการทดสอบการชนด้านข้าง (UN R95) โดยบริษัทไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด (ไดฮัทสุ) ของรถยนต์รุ่นยาริส เอทีฟ [Yaris Ativ] ที่ผลิตที่โรงงานของโตโยต้า 2 แห่งในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทั้งโตโยต้าและไดฮัทสุ ได้จัดการแถลงข่าวขึ้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566
แม้ว่าไดฮัทสุ เป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาตัวถัง และดูแลขั้นตอน รับรองรถยนต์รุ่นยาริส เอทีฟ อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานใหญ่ของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชีย มีความจำเป็นต้องขออภัยเป็นอย่างสูง ที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวก และความไม่สบายใจ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้า ผู้แทนจำหน่ายฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ซึ่งครอบครองรถรุ่นนี้ ทั้งนี้ เราขอเรียนชี้แจงให้ท่านทราบ ถึงความเข้าใจในสถานการณ์ ตลอดจนแผนการดำเนินงานในอนาคตของเรา
หลังจากพบข้อบ่งชี้ ถึงความไม่สมบูรณ์ของการเตรียมการทดสอบ โตโยต้าปรึกษากับไดฮัทสุ และหยุดการส่งมอบรถชั่วคราว ไปยังกลุ่มตลาดที่มีข้อบังคับ เกี่ยวกับการทดสอบการชนด้านข้าง UN-R95
นอกจากนี้ ทางไดฮัทสุได้ทำการปรึกษาหน่วยงาน ที่ทำการตรวจสอบและออกใบรับรอง เพื่อดำเนินการทดสอบการชนด้านข้าง UN-R95 ด้วยชิ้นส่วนที่ผลิตเพื่อจำหน่าย ในรถรุ่น Yaris Ativ เป็นการภายใน และขอยืนยันว่าเป็นไปตามข้อกำหนด UN-R95 ทั้งหมด
ภายหลังจากการรายงานผลการทดสอบ มีการลงความเห็นว่า สำหรับรถรุ่นปัจจุบัน ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขใดๆ ซึ่งทางบริษัทขอยืนยันว่าลูกค้าสามารถใช้งานรถของท่านต่อไป ได้ตามปกติ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ทางบริษัท มีการจัดทดสอบการชนด้านข้าง ต่อหน้าหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดการทดสอบอีกครั้ง ซึ่งได้รับการอนุมัติว่า เป็นไปตามข้อกำหนด UN-R95
ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย มีความจำเป็นที่ต้องตรวจสอบซ้ำในประเทศญี่ปุ่น ตามข้อกำหนดการทดสอบพยาน (witness testing) จึงมีความจำเป็นต้องหยุดจัดส่ง และจำหน่ายชั่วคราว หลังจากนี้ บริษัทจะทำการเร่งจัดส่งรถให้เร็วที่สุด ภายใต้คำแนะนำ และการตรวจสอบอนุมัติโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทางด้านสาเหตุของความไม่สมบูรณ์ ในขั้นตอนการเตรียมการทดสอบ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ ขออภัยเป็นอย่างสูงต่อลูกค้า และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่ให้ความไว้วางใจในแบรนด์โตโยต้า
ทั้งนี้นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานคณะกรรมการ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการผลิตรถยนต์… เราขออภัยจากใจจริงต่อลูกค้าทั่วโลกและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด สำหรับความไม่สะดวกและความไม่สบายใจ… ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรถโดยสารส่วนบุคคลของแบรนด์โตโยต้า ดังนั้น จึงมิได้เป็นเพียงปัญหาของไดฮัทสุอย่างเดียว ซึ่งเราจะเริ่มตรวจสอบอย่างละเอียด และรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์ และทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา รวมถึงทำงานอย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นอีก นอกจากนี้ เราจะชี้แจงข้อเท็จจริงที่พบระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบให้สาธารณชนทราบอย่างทันท่วงที”