โตโยต้า ประเทศไทย เพิ่งแพ้คดีภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุส ไปเมื่อไม่กี่วันก่อนส่งผลให้บริษัท ต้องจ่ายเงินให้กับภาครัฐถึง 1 หมื่นกว่าล้านบาท ตามคำสั่งศาล แต่ล่าสุด ก็มีคดีที่ดูเหมือนจะคล้ายกัน แต่ต่างกันในรายละเอียด ซึ่งผลที่ออกมา ตรงกันข้ามกับคดีแรก นั่นก็คือฝ่ายเอกชนอย่าง Isuzu ประเทศไทยชนะคดี โดยศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร พิพากษายืนให้บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) ไม่ต้องเสียอากรในการนำเข้าชุดเกียร์รถยนต์ ตามความตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการความร่วมมือทางอุตสาหกรรมของอาเซียน (AICO) มูลค่า 1,800 ล้านบาท
โดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ได้อ่านคำพากษาโดยวิธีถ่ายทอดภาพและเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปยังศาลภาษีอากรกลางในคดีที่ บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กรมศุลกากร และกรมสรรพากร ร่วมกันเป็นจำเลยรวม 4 คดี มีทุนทรัพย์รวมกว่า 1,800 ล้านบาท
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างปี 2542-45 โจทก์นำเข้าชุดเกียร์รถยนต์จากประเทศฟิลิปปินส์ โดยใช้สิทธิลดอัตราอากรเหลือ 5% ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.17/2541 (ครอ.1) และตามความตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการความร่วมมือทางอุตสาหกรรมของอาเซียน (AICO) แต่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์นำชุดเกียร์รถยนต์ไปผลิตหรือประกอบเป็นรถบรรทุกเล็ก ไม่ตรงกับรุ่นของรถยนต์ ตามที่ระบุไว้ในใบรับรองผลิตภัณฑ์ จึงไม่ได้รับสิทธิลดอัตราอากรตามโครงการ AICO และต้องเสียอัตราอากร 42%
โจทก์ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามโครงการ AICO ตามใบรับรองผลิตภัณฑ์ คือ ชุดเกียร์รถยนต์ ซึ่งหมายถึง ชื่อของชุดเกียร์ หมายเลขของชุดเกียร์ ยี่ห้อของชุดเกียร์ และรุ่นของชุดเกียร์ ส่วนรุ่นของรถยนต์ที่ระบุไว้ในใบรับรองผลิตภัณฑ์ เป็นเพียงรหัสรุ่นของรถยนต์ที่จะนำชุดเกียร์ไปประกอบ ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญในการได้รับสิทธิลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.17/2541 (ครอ.1) โจทก์จึงได้รับสิทธิลดอัตราอากรเหลือ 5% ภายใต้โครงการ AICO และประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์นำเข้าชุดเกียร์น้อยกว่าที่ได้รับอนุมัติ บริษัท อีซูซุ เอ็นยิ่น แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ส่งออกเครื่องยนต์ตามข้อตกลงที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ AICO และโจทก์ขาดคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการ AICO เป็นการเพิ่มเติมประเด็นอื่นขึ้นใหม่ในชั้นศาล ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นมาใหม่ นอกเหนือจากที่เจ้าพนักงานประเมิน ได้ประเมินไว้เพื่อให้โจทก์ต้องรับผิด เท่ากับเป็นการขยายระยะเวลาการประเมิน และประเด็นการประเมินโดยไม่มีที่สิ้นสุดและไม่แน่นอน ไม่เป็นธรรมกับผู้ต้องเสียภาษีอากรและไม่ชอบด้วยหลักการประเมินและการอุทธรณ์การประเมิน ศาลไม่รับวินิจฉัย เมื่ออากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ต้องรับผิดตามการประเมิน ก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากร ตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืน
[yourchannel video=”oQ-c9uNs5XI” autoplay=”1″ show_comments=”1″]