ในปัจจุบัน ตลาดรถกระบะปิกอัพของไทย มี Isuzu D-MAX และ Toyota Hilux ครองตลาดแบบผูกขาดในอันดับ 1 และ 2 มานานหลายปี โดยมี Ford Ranger และ Mitsubishi Triton ตามมาห่างๆ เป็นอันดับ 3 และ 4 แบบสลับกันนำและตาม ซึ่งทุกอย่าง ควรจะเป็นไปในรูปการณ์นี้ หากรถยนต์ใช้น้ำมัน ยังอยู่ในกระแสความนิยมเหมือนเดิม แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ กำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน จากยุคของรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปสู่ยุคของรถยนต์พลังงานใหม่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และทุกอย่าง ก็กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ ได้เคยจินตนาการเอาไว้ ปัจจัยหลักอย่างหนึ่ง ที่ทำให้รถยนต์พลังงานใหม่ แจ้งเกิดได้เร็วกว่าที่คิด ก็คือการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ที่ช่วยเปิดทางให้รถยนต์ประเภทนี้ เข้ามาทดแทนรถยนต์แบบดั้งเดิม ได้อย่างรวดเร็ว และจากข้อมูลล่าสุด ดูเหมือนว่า ในปี 2023 หรืออย่างช้าในปี 2024 รูปแบบการแข่งขันในตลาดรถกระบะปิกอัพของไทย อาจจะเปลี่ยนไปตลอดกาล
ในปัจจุบัน ตลาดรถยนต์ในภาพรวมของไทย กำลังเดินทางไปสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ที่สะท้อนออกมาทางตลาดรถยนต์นั่งเป็นหลัก แต่สำหรับตลาดรถกระบะปิกอัพแล้ว อาจจะแตกต่างออกไป ด้วยลักษณะของการใช้งานส่วนใหญ่ ที่เน้นการบรรทุกหนัก และการสัญจร ไปยังสถานที่อันห่างไกลจากตัวเมือง หรือการบุกตะลุย ไปบนเส้นทางทุรกันดาร ที่ยังไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า นั่นจึงทำให้ทางเลือกใหม่ของคนใช้รถกระบะ อาจจะต้องเป็นทางเลือกที่เป็นการประนีประนอมกัน ระหว่างรถยนต์ใช้น้ำมัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ นั่นก็คือ รถกระบะไฮบริด
ความเป็นไปได้ที่ว่า ไม่ได้เกินความคาดหมาย เพราะเสียงสะท้อนจากผู้บริหารของค่ายรถยนต์รายสำคัญ ก็มองไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากค่ายรถยนต์จีน ที่มองไปถึงการแนะนำรถกระบะไฟฟ้าที่ตัวเองถนัด เข้าสู่ตลาด มากกว่าที่จะนำเสนอรถกระบะไฮบริด เหมือนค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น หรืออเมริกา
จะว่าไปแล้ว การพยายามนำเสนอรถกระบะไฮบริดให้กับลูกค้าในตลาด ก็เหมือนเป็นการชะลอความร้อนแรงของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไปในตัว เพราะอย่างที่เราทราบกันดี ว่าผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดนี้ เป็นค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ที่ฝังตัวอยู่ในตลาดมานานหลายสิบปี และยังไม่พร้อมเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในขณะนี้ ทั้งนี้ก็เพราะทุกอย่างที่ถืออยู่ ยังรองรับการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันเป็นหลัก บางราย ยังไม่ได้ทำตลาดรถยนต์ไฮบริดอย่างจริงจังเสียด้วยซ้ำ การรีบเร่งเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในตอนนี้ นอกจากยังไม่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังถือว่าเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง การทำตลาดรถยนต์ไฮบริดก่อน จึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด และอาจจะถือว่าเป็นโชคดีของบริษัทเหล่านี้ก็ว่าได้ เพราะในมุมมองของผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อย หรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ ยังมองว่า รถกระบะไฟฟ้า อาจจะไม่ตอบโจทย์ เหมือนรถกระบะเครื่องยนต์สันดาปภายใน เมื่อมองจากการใช้งาน และโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ซึ่งในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน เราก็อาจจะได้เห็นผู้เล่นอย่างน้อย 4-5 ราย ที่กำลังกระโจนเข้าสู่ตลาดรถกระบะไฮบริดในปีหน้า ก่อนที่อะไรหลายอย่าง อาจจะเปลี่ยนไปจากนี้
2 ค่ายรถยนต์แรก ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ที่จะเปิดตัวรถกระบะไฮบริดก่อนใครในตลาด ก็คือ Toyota และ Mitsubishi โดย Toyota มีความชัดเจนมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ในการพัฒนา Hilux Hybrid เข้าสู่ตลาด ซึ่งมีข่าวลือว่า ในปี 2023 เราจะได้เห็นการเปิดตัวรถกระบะไฮบริด ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งของ Hilux เจนเนอเรชั่นใหม่ และจะพ่วงมากับ Fortuner Hybrid ซึ่งแรงสนับสนุน ให้มีการเปิดตัวรุ่นไฮบริด เร็วกว่าปกติ ก็เพราะความไม่มั่นใจในอนาคตของรถยนต์ประเภทนี้ ว่าจะถูกทดแทนด้วยรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ในช่วงเวลาใด การพยายามขายเทคโนโลยี ที่มีอยู่ในมือให้ได้มากที่สุด น่าจะเป็นการลดความเสี่ยงไปในตัว และเป็นสิ่งที่ Toyota ทำได้ดีกว่าคู่แข่งมาโดยตลอด ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์่ล่าสุด ของ Mike Sweers หัวหน้าทีมวิศวกร ที่พัฒนารถกระบะและ PPV ของ Toyota อเมริกาเหนือ ก็ชัดเจนแล้วว่า Toyota ยังไม่มองไปที่การผลิตรถกระบะไฟฟ้าแบตเตอรี่ออกมาจำหน่าย โดยมีการหยิบยกปัญหาต่างๆของเทคโนโลยีชนิดนี้ มานำเสนอให้สื่อต่างๆได้ทราบกัน ตามที่เราได้พูดถึงไปในคลิปก่อน ในขณะที่ Mitsubishi ก็มีข่าวมาพักใหญ่แล้วว่า Triton โฉมใหม่ เจนเนอเรชั่นที่ 6 ที่มีกำหนดการเปิดตัวในปลายปีนี้ จะมีรุ่น PHEV เข้ามาเป็นทางเลือกในไลน์อัพด้วย และก็ดูจะเหมือนเป็นรุ่นที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด สำหรับตลาดเมืองไทย เพราะบริษัท มีแผนจะนำเอาขุมพลัง PHEV ของรุ่น Outlander PHEV ที่มีอยู่แล้ว มาใช้กับ Triton แถมยังมีสายการผลิตอยู่ในเมืองไทย ทำให้ Triton PHEV มีโอกาสเปิดตัวก่อนใครเพื่อน และถ้าหากมองจากแผนงานทางธุรกิจของ Mitsubishi จะพบว่า บริษัทจะเน้นไปที่การทำตลาดรุ่น PHEV เป็นสำคัญ ด้วยเหตุผลที่ว่า รถที่มีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนด้วย จะช่วยให้ผู้ขับขี่ มั่นใจในการเดินทาง ว่าจะไม่มีปัญหาพลังไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ หมดก่อนถึงที่หมาย หรือไม่มีสถานีชาร์จไฟฟ้า ในเส้นทางที่แล่นผ่าน แถมรถยนต์ไฟฟ้า 100% ยังมีปัญหาในการขึ้นทางลาดชัน หรือใช้งานในช่วงที่มีอุณหภูมิแบบสุดขั้ว คือมีอากาศร้อน หรือเย็นจนเกินไป ทำให้ขุมพลังไฮบริดแบบ PHEV เป็นทางเลือกที่เหนือกว่า
เมื่อพูดถึงตลาดรถกระบะขนาดกลางของไทยแล้ว รถกระบะที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือ Isuzu D-MAX ซึ่งในมุมมองของรถกระบะไฮบริด หรือรถกระบะไฟฟ้าแบตเตอรี่แล้ว ISUZU ดูเหมือนจะเงียบที่สุด แต่ครั้งหนึ่ง ผู้บริหาร Isuzu ก็ได้เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทมีความพร้อม หากลูกค้าในตลาด มีความต้องการใช้งานรถยนต์ประเภทนี้ และในแผนงานธุรกิจล่าสุดของ Isuzu เอง ก็ได้ระบุถึงรถกระบะไฮบริดและไฟฟ้า ที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา และทดสอบการใช้งานอยู่ อีกทั้งในตลาดรถบรรทุก Isuzu ก็มีเวอร์ชั่นไฟฟ้า ที่ทำตลาดอยู่แล้ว ฉะนั้น ในแง่ของความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี Isuzu ไม่น่าจะมีปัญหาในการแข่งขัน
อีกค่ายหนึ่ง ที่มีความพร้อมในสมรภูมิรถกระบะไฮบริด และมีความพร้อมมานานกว่าเพื่อน ก็คือ Ford ที่มีการทำตลาดผ่านทางรถกระบะขนาดใหญ่ อย่าง F-Series ที่มีทั้งเวอร์ชั่นไฮบริดและไฟฟ้าอยู่แล้ว ฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความพร้อมในด้านเทคโนโลยี แต่ที่น่าสนใจก็คือ Ford มีแผนชัดเจน ในการแนะนำ Ranger PHEV สู่ตลาดในปี 2024 ซึ่งนั่นอาจจะเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการเปิดตัว Hilux Hybrid ลงสู่ตลาด
ฉะนั้น ถ้ามองจากสถานการณ์โดยรวมล่าสุด Mitsubishi อาจจะเป็นรายแรก ที่ส่งรถกระบะไฮบริดลงสู่ตลาดเมืองไทย และเป็นรุ่น PHEV ตามมาด้วย Toyota HILUX Hybrid ที่เป็นระบบไฮบริดแบบดั้งเดิม ส่วนจะมีแบบ PHEV หรือ Plug-In Hybrid ด้วยหรือไม่นั้น ต้องดูความชัดเจนอีกครั้ง หลังจากนั้น เราอาจจะได้เห็น Ranger PHEV ตามออกมาเป็นรายที่ 3 ส่วน Isuzu D-MAX ไฮบริด อาจจะเป็นรายหลังสุด จากทั้งหมด 4 ค่าย ตามสไตล์ของ Isuzu ที่ขอให้ทุกอย่างชัดเจนก่อน โดยช่วงเวลาของการเปิดตัว ของ 3 ค่ายแรก คาดว่าจะอยู่ในช่วงปีหน้า 2023 ถึงปี 2024 ซึ่งหากตลาดนี้ถูกเปิดขึ้นมา เชื่อว่า สถานการณ์การแข่งขัน อาจจะเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่มากก็น้อย แต่ก็มีอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้รูปการณ์เปลี่ยนแปลงไปอีก ก็คือทางเลือกใหม่จากจีน ที่เป็นรถกระบะไฟฟ้าแบตเตอรี่ 100% ซึ่งมี MG และ GWM จับตามองตลาดอยู่อย่างใกล้ชิด แต่รายหลัง จะเริ่มเดินสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยได้ ก็คือปี 2024 จากทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ในปี 2023 เป็นต้นไป การแข่งขันในตลาดรถกระบะของไทย อาจจะเริ่มแตกต่างไปจากเดิม ส่วนจะเปลี่ยนไปมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการยอมรับของลูกค้าในตลาด ว่ารถกระบะไฮบริด หรือรถกระบะไฟฟ้า ตอบโจทย์ของตัวเองได้ดีกว่ากัน หรือยังคิดว่า ทางเลือกเดิม ที่เป็นรถกระบะเครื่องยนต์สันดาปภายใน ยังตอบโจทย์ได้ดีกว่ารถกระบะขุมพลังแบบใหม่
[yourchannel video=”bCkY3W8aWPM” autoplay=”1″ show_comments=”1″]