ตลาดรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม สวนกระแสราคาน้ำมัน มียอดขายรวมอยู่ที่ 64,735 คัน เติบโต 15.7% โดยมี Toyota มียอดขายนำมาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วย Isuzu ในขณะที่อันดับ 3 เป็น Honda ที่มีการเติบโตเพียง 0.7% เท่านั้น
โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนพฤษภาคม 2565 มีตัวเลขการขายรวมทั้งสิ้น 64,735 คัน เพิ่มขึ้น 15.7% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 20,084 คัน เพิ่มขึ้น 29% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 44,651 คัน เพิ่มขึ้น 10.6% และรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ มีจำนวน 33,822 คัน เพิ่มขึ้น 6.4% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตในการประกอบอาชีพ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจนเกือบเป็นปกติ แม้จะมีปัจจัยลบที่สำคัญคือ สถานการณ์ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีความต้องการใช้รถยนต์ของผู้บริโภคที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถยนต์นั่งซึ่งมีความจำเป็นในการเดินทางที่สะดวก ปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคระบาดโควิด-19
ตลาดรถยนต์ในเดือนมิถุนายนมีแนวโน้มการเจริญเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง จากความมั่นใจของผู้บริโภคที่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม และสะท้อนไปยังตลาดรถยนต์ด้วยเช่นกัน โดยสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลที่ส่วนใหญ่ใช้ในภาคขนส่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันเบนซินที่ส่วนใหญ่ใช้ในรถยนต์ส่วนบุคคล ส่งผลให้ต้นทุนในการเดินทางของประชาชนสูงขึ้น แต่ก็ไม่อาจหยุดความต้องการใช้รถยนต์ของผู้บริโภค ภายใต้ปัจจัยเสริมที่สำคัญคือข้อเสนอพิเศษที่ทำให้การเป็นเจ้าของรถยนต์ในปัจจุบันเป็นเรื่องง่าย เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ตลาดรถยนต์ในเดือนมิถุนายน ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
ตลาดรถกระบะ Pure Pick up เดือนพฤษภาคม2565
มีปริมาณการขาย 29,237 คัน เพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 12,895 คัน เพิ่มขึ้น 5.2% ส่วนแบ่งตลาด 44.1%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 11,861 คัน เพิ่มขึ้น 13.0% ส่วนแบ่งตลาด 40.6%
อันดับ 3 Mitsubishi Triton 1,902 คัน เพิ่มขึ้น 9.7% ส่วนแบ่งตลาด 6.5%
อันดับ 4 Ford Ranger 1,831 คัน ลดลง 20.8% ส่วนแบ่งตลาด 6.3%
อันดับ 5 Nissan Navara 414 คัน ลดลง 11.9% ส่วนแบ่งตลาด 1.4%
อันดับ 6 MG Extender 246 คัน ลดลง 28.7% ส่วนแบ่งตลาด 0.8%
อันดับ 7 Mazda BT-50 88 คัน ลดลง 27.9% ส่วนแบ่งตลาด 0.3%
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 3 อันดับแรก มียอดขายเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วน 3 อันดับท้าย ที่ยอดขายไม่ดีอยู่แล้ว ก็ยิ่งแย่ลงไปอีกในเดือนดังกล่าว และแม้ว่า Toyota Hilux Revo จะมียอดขายเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ 13.0% แต่ก็ยังไม่มีดีพอที่จะแซง Isuzu D-MAX ไปได้ ส่วน Ford ที่เพิ่งเปิดตัว All-New Ranger โฉมใหม่ไปได้ไม่นาน ยังรอการผลิตและจำหน่ายอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้คู่แข่งอย่าง Mitsubishi Triton ขึ้นไปยึดอันดับ 3 ในเดือนพฤษภาคมได้แบบเฉียดฉิว ในขณะที่ยอดขายของ Ranger ลดลงถึง 20.8% แต่รุ่นที่มียอดขายตกลงมามากที่สุด ก็คือ MG Extender ที่ลงไปถึงเกือบ 1 ใน 3 ของยอดขายในปีที่ผ่านมา ถึง 28.7%
ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ใน 5 เดือนแรกของปี 2565
มีปริมาณการขาย 164,823 คัน เพิ่มขึ้น 18.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 75,268 คัน เพิ่มขึ้น 17.2% ส่วนแบ่งตลาด 45.7%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 64,591 คัน เพิ่มขึ้น 31.5% ส่วนแบ่งตลาด 39.2%
อันดับ 3 Ford Ranger 10,295 คัน ลดลง 9.9% ส่วนแบ่งตลาด 6.2%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 9,964 คัน เพิ่มขึ้น 13.8% ส่วนแบ่งตลาด 6.0%
อันดับ 5 Nissan Navara 2,958 คัน ลดลง 7.8% ส่วนแบ่งตลาด 1.8%
อันดับ 6 MG Extender 1,318 คัน ลดลง 42.2% ส่วนแบ่งตลาด 0.8%
อันดับ 7 Mazda BT-50 429 คัน ลดลง 28.6% ส่วนแบ่งตลาด 0.3%
ยอดขายสะสมใน 5 เดือนแรกของปี Isuzu D-MAX นำโด่งมาตามคาด ทิ้งห่างอันดับ 2 Toyota Hilux Revo ราว 10,000 กว่าคัน ครองส่วนแบ่งตลาดถึงเกือบครึ่งหนึ่ง ส่วนอันดับ 3 Ford Ranger ยังรักษาตำแหน่งเดิมเอาไว้ได้ แต่ก็ไม่ได้นำห่างที่ 4 Mitsubishi Triton มากนัก ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือ MG Extender ที่ยอดดิ่งลงถึง 42.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่าสถานการณ์ของตลาดโดยรวมจะดีขึ้น แต่นั่นอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ MG อาจจะต้องพิจารณาทางเลือกใหม่สู่ตลาด ซึ่งรถกระบะไฟฟ้า อาจจะเป็นทางเลือกน่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะยังไม่มีคู่แข่งใดๆในตลาด และยอดขายของ Extender รุ่นมาตรฐาน ก็คงไม่ได้รับผลอะไรใดๆ เพราะผ่านมาเกือบครึ่งปี จำหน่ายไปได้แค่ 1,000 กว่าคัน ยิ่งนานวัน ก็ดูเหมือนว่าเป็นการยาก ที่จะอยู่รอดได้ในตลาด ในแง่ของความคุ้มค่าในการลงทุน Extender EV จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าลองในสภาพการแข่งขันแบบนี้