การเพิ่มรถยนต์ไฟฟ้า เข้าไปในทุกไลน์อัพที่ทำตลาด คือเป้าหมายสำคัญของค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่สักวัน จะต้องเดินทางไปถึง ไม่ช้าก็เร็ว แต่ดูเหมือนว่า รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ จะเป็นรถยนต์ประเภทหลังๆ ที่จะมีการใช้ขุมพลังไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ทั้งนี้ก็เพราะรถกระบะปิกอัพ มีการใช้งานที่สมบุกสมบันกว่ารถยนต์ประเภทอื่นๆ รวมถึงน้ำหนักรถที่มากขึ้นจากแบตเตอรี่ ทำให้สมรรถนะโดยรวม อาจจะไม่สามารถรองรับการบรรทุกหนัก ได้ดีเท่าที่ควร แต่นั่นก็เป็นมุมมองของบางค่ายรถยนต์ ที่อาจจะยังต้องการนำเสนอเครื่องยนต์สันดาปภายใน ให้เป็นขุมพลังหลักสำหรับรถยนต์ประเภทนี้ต่อไป ให้ได้นานที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า มีอยู่อย่างต่อเนื่อง และเป็นไปอย่างรวดเร็ว ที่นอกจากจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น น้ำหนักน้อยลง ต้นทุนราคาก็ต่ำลง และในอีกหลายประเทศ ก็ได้ขยายเครือข่ายสถานีชาร์จไฟ ให้ครอบคลุมพื้นที่ ได้มากกว่าแต่ก่อนมาก รวมถึงเมืองไทย นั่นจึงทำให้โอกาสที่เราจะได้เห็นการทำตลาดรถกระบะไฟฟ้าในบ้านเรา มีความเป็นไปได้สูง และการขยับตัวล่าสุดของภาครัฐไทย ก็ถือว่าเป็นแรงกระตุ้นอย่างดี ที่ทำให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ ต้องการก้าวเข้ามาสู่ตลาดนี้
เดิมที ภาครัฐได้ออกมาตรการสนับสนุน การผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการลดภาษีที่เกี่ยวข้อง และให้เงินสนับสนุนสูงสุด กว่า 150,000 บาท จนล่าสุด มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องอัตราภาษีสรรพสามิต สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า สามารถนำรถเข้ามาจำหน่ายก่อน แล้วผลิตชดเชยในภายหลังตามเงื่อนไข จะได้รับสิทธิลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% โดยรถกระบะไฟฟ้า แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565-31 ธ.ค.2568 จัดเก็บภาษี 0% จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569-31 ธ.ค. 2578 จัดเก็บภาษี 2% และรถกระบะแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Powered Vehicle) จัดเก็บภาษี 0-1% จากการรายงานของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ถือว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจ ให้ค่ายรถยนต์หลายค่าย ในการจะพิจารณานำเอารถกระบะไฟฟ้า มาทำตลาดในเมืองไทยได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจาก Toyota ประเทศไทยมองว่า รถกระบะส่วนใหญ่ เป็นรถที่มีการใช้งานอย่างหนัก และรถยนต์ไฟฟ้า มีน้ำหนักมากกว่า ซึ่งอาจไม่เหมาะกับการใช้งานในบางกรณี ที่สำคัญ แบตเตอรี่ยังมีราคาสูงอยู่ และคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่ง ของราคารถยนต์ อีกทั้งการเสื่อมลงของแบตเตอรี่ มีผลต่อราคาขายต่อ
ในขณะที่ผู้บริหาร ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ มองว่า รถยนต์ไฟฟ้า มีแนวโน้มที่สดใส ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ ในเรื่องของการทำตลาดรถกระบะไฟฟ้าอยู่เช่นกัน ซึ่ง Isuzu มีเทคโนโลยีประเภทนี้อยู่แล้ว ที่มีการใช้งานจริง และกำลังทดสอบกันอยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ เราได้เคยนำเสนอข่าว เกี่ยวกับแผนงานของ Isuzu ในการพัฒนารถกระบะไฟฟ้าและไฮบริด ในแผนธุรกิจล่าสุด นอกจากนั้น Isuzu ยังได้ทำตลาดรถกระบะไฟฟ้าในประเทศจีน ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรบางรายไปแล้ว
ในขณะที่ผู้บริหาร MG ประเทศไทย เผยว่า บริษัทมีรถกระบะไฟฟ้า ที่ทำตลาดในประเทศจีนอยู่แล้ว ซึ่งได้รับความนิยมพอสมควร และหากลูกค้าชาวไทยให้ความสนใจในรถยนต์ประเภทนี้ บริษัท ก็พร้อมที่จะนำเข้ามาทำตลาดเพิ่มเติม
จากการให้สัมภาษณ์ของทั้ง 3 บริษัท และข้อมูลที่เรามีอยู่ ดูเหมือนว่า Isuzu และ MG จะมีความพร้อมมากที่สุดในตลาด ในขณะที่ Toyota ยังมองว่า มีอุปสรรคหลายอย่าง ที่ทำให้ตลาดนี้ ยังไม่น่าสนใจในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมี Great Wall Motor ที่มีความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด ด้วยการนำเอารถกระบะไฟฟ้า มาอวดโฉมในงานจัดแสดงรถยนต์ที่ผ่านมา แต่อาจจะเพราะยังมีปัญหา ในเรื่องการผลิตรถยนต์บางรุ่น จึงไม่มีข่าวคราวความเคลื่อนไหว จากค่ายรถยนต์สัญชาติจีนรายนี้