เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา Contemporary Amperex Technology หรือที่รู้จักกันดี ในชื่อ CATL ที่เพิ่งเทเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศอินโดนีเซีย ไปเมื่อไม่นานมานี้ ได้ประกาศเปิดตัวแบตเตอรี่รุ่นสำคัญ ที่จะมาปฎิวัติวงการรถยนต์ไฟฟ้า นั่นก็คือ แบตเตอรี่แบบ CTP หรือ Cell to Pack ในชื่อ Qilin 3.0 ที่ยกระดับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ไปอีกขั้นหนึ่ง โดย CATL เคลมว่า แบตเตอรี่ชนิดนี้ สามารถใช้ประโยชน์จากปริมาณแบตเตอรี่ ได้สูงกว่า 72% สำหรับแบตเตอรี่แบบ integrated ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก โดยมีความหนาแน่นของพลังงาน ที่ 255 วัตต์-ชั่วโมง/กิโลกรัม ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้า ที่ติดตั้งแบตเตอรี่ชนิดนี้ สามารถแล่นไปได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตร ได้แบบสบายๆ จากการชาร์จไฟเพียงครั้งเดียว โดยบริษัทเตรียมทำการผลิตแบตเตอรี่รุ่นนี้ในเชิงพาณิชย์ ในปีหน้า 2023
CATL อธิบายเพิ่มเติมว่า แบตเตอรี่ Qilin ได้รับการเพิ่มพื้นที่ถ่ายเทความร้อน มากกว่าปกติถึง 4 เท่าตัว ผ่านเทคโนโลยีทำความเย็นบนพื้นผิวขนาดใหญ่ เป็นครั้งแรกของโลก โดยมีการวางส่วนประกอบ ที่ใช้ระบายความร้อนด้วยน้ำ ระหว่างเซลล์แบตเตอรี่ ซึ่งแต่เดิม จะมีการติดตั้งอยู่ด้านใต้ของเซลล์ โดยใช้เวลาในชาร์จไฟ ให้ได้ความจุแบตเตอรี่ ที่ราว 80% ภายในเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น และในสภาวะที่ร้อนจัดมากๆ เซลล์แบตเตอรี่ จะมีการเย็นลงอย่างรวดเร็ว เพื่อหยุดการถ่ายเทความร้อนที่ผิดปกติระหว่างเซลล์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แบตเตอรี่ Qilin ยังมีความจุไฟฟ้า มากกว่าแบตเตอรี่แบบ 4680 อันเลื่องชื่อ ถึง 13% ส่งผลให้ได้ระยะทางวิ่งที่มากกว่า ใช้เวลาในการชาร์จไฟน้อยกว่า ทำงานในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า ส่งผลให้มีความปลอดภัยกับตัวรถ และชีวิตของผู้โดยสารมากขึ้น โดยในการออกแบบ ได้มีการถอดชิ้นส่วนประกอบบางอย่างออกไป เช่น แผ่่นระบายความร้อนด้วยน้ำ แผ่นความร้อน คานขวาง ซึ่งถูกออกแบบแยกเป็นส่วนๆ แล้วทำการประกอบรวมกันใหม่ ในแบบประกบกันเป็นชั้นๆ เพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้น โดยแต่ละชั้นของแบตเตอรี่ จะมีการเชื่อมต่อกันด้วยสะพานขนาดจิ๋ว ระดับไมโครเมตร ซึ่งสามารถหดขยาย ให้เข้ากับการระบายความร้อนของเซลล์แบตเตอรี่ได้ เป็นการยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ออกไปได้อีก และการประกอบกันเป็นชั้นๆในลักษณะนี้ ยังช่วยให้โครงสร้างของแบตเตอรี่ มีเสถียรภาพมากขึ้น หากมีการขยับ ในทิศทางตั้งฉากกับการเคลื่อนที่ของรถ เป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้าง และตัวแบตเตอรี่เอง ก็จะทนต่อแรงกระแทกได้มากขึ้น
สำหรับค่ายรถยนต์ที่มีข่าวว่า จะมีการนำเอาแบตเตอรี่ชนิดใหม่รุ่นนี้ ไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นของบริษัท ได้แก่ Lotus, Li Auto ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นกัน ในรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่น ในปี 2023 เป็นต้นไป และเริ่มมีข่าวลืออีกว่า Neta Auto สนใจที่จะติดตั้งแบตเตอรี่ Qilin ในรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นของบริษัทด้วย
ในปัจจุบัน CALT เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก โดยมีลูกค้าสำคัญอย่าง TESLA, Volkswagen และค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ของจีน เช่น Nio Xpeng Motors โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ CATL สามารถส่งแบตเตอรี่ไปจำหน่ายทั่วโลก แล้วกว่า 33.3 GWh ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 35% และในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทส่งมอบแบตเตอรี่ให้กับลูกค้าในประเทศจีนไปแล้ว 8.51 GWh ครองส่วนแบ่งถึง 45.85%
พัฒนาการอันรวดเร็วของแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ย่อมหมายถึง การเดินเข้าใกล้จุดจบของขุมพลังใช้น้ำมันที่เร็วขึ้น และการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ที่เติบโตได้มากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่อไปว่า ค่ายรถยนต์ต่างๆ จะปรับตัว หรือแก้เกมต่อไปอย่างไร