บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์รายล่าสุด ที่ลงนามข้อตกลง ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า กับกรมสรรพสามิต ส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้า Toyota bZ4X ที่จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ภายในปี 2022 นี้ จะได้รับสิทธิการลดอากรศุลกากร ภาษีสรรพสามิต และการรับเงินอุดหนุน รวมสูงสุด กว่า 300,000 บาท ซึ่งเมื่อหักออกจากราคาจำหน่ายประมาณการณ์ ที่เคยมีข่าวมาก่อนหน้านี้ ว่าราคา จะอยู่ที่ราว 2 ล้านบาท บวกลบ ทำให้ราคาใหม่ ที่จะมีการจำหน่ายจริง อาจจะอยู่ที่ 1.7 ล้านบาท โดยประมาณ ซึ่งแม้ว่ายังไม่มีข้อสรุป และการยืนยันราคาจำหน่าย แต่ด้วยราคาที่สูงเกือบ 2 ล้านบาท กับรถคอมแพคท์เอสยูวีไฟฟ้า ก็ต้องยอมรับว่า ยังเป็นราคาที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาด ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ที่มีราคาเป็นจุดขายสำคัญอยู่แล้ว โดยล่าสุด ยังมีเพียง MG และ Great Wall Motor ที่ได้ลงนามในข้อตกลงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และคาดว่าภายในปีนี้ จะมีผู้ประกอบอุตสาหกรรมยานยนต์ และผู้นำเข้า ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เข้าร่วมลงนามในข้อตกลง กับกรมสรรพสามิต อีกไม่น้อยกว่า 5 ราย โดยในสัปดาห์หน้า จะมีการลงนาม กับค่ายรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสัญชาติไทย อีก 2 ราย
เรื่องที่น่าสนใจอีกอย่าง ก็คือการที่รัฐบาล เตรียมออกมาตรการหนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสถานีชาร์จไฟ และการลดอัตราค่าไฟ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อรักษาให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ยังเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนต่อไป ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ จากการเปิดเผยของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่วนกรณีของการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตนั้น มองว่าในประเทศไทย มีโรงงานที่ผลิตแบตเตอรี่ที่ครบวงจร มีเพียงแร่ลิเทียม ที่จะต้องมีการนำเข้ามา ดังนั้น เชื่อว่าวัตถุดิบสำคัญอย่างแบตเตอรี่ จะเป็นส่วนหนึ่ง ในการสนับสนุน ให้มีการเข้ามาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยนโยบายสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ จะทำในลักษณะการให้เงินอุดหนุน เช่นเดียวกับมาตรการการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่อันดับ 1 ของโลกอย่าง CATL เพิ่งประกาศการลงนามในการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำรองไฟแบบครบวงจรในประเทศอินโดนีเซียไปแล้ว ด้วยเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท หลังจากที่ทั้ง LG Energy Solution ผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับ 2 ของโลก ได้เดินหน้าตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในอินโดนีเซียไปก่อนหน้านี้แล้ว ด้วยเงินลงทุนถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 308,000 ล้านบาท รวมถึง Hyundai ผู้เล่นสำคัญในตลาดนี้เช่นกัน
การประกาศแนวทางใหม่ ในการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ของไทย เพื่อรักษาให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนต่อไป จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองต่อไปว่า จะช่วยให้เกิดการลงทุนที่มากเพียงพอ ที่จะทำให้ไทย ไม่ได้รับผลกระทบ จากการขึ้นมาเป็นยักษ์ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ของอินโดนีเซียได้หรือไม่