เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Elon Musk CEO ของ Tesla ได้ต้อนรับประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย นายโจโค วิโดโด้ ในการเข้าชมโรงงานของ SpaceX ที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เพื่อพบปะเจรจา ในเรื่องการลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ และการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอาจจะรวมถึง การสร้างฐานปล่อยจรวดที่นั่น และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ก็มีข่าวว่า Tesla ยืนยันแผนงานการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียแล้ว ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของไทย กลายเป็นศูนย์กลาง การผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก หลังจากที่บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ ทั้งอันดับ 1 และ 2 ของโลก อย่าง CATL และ LG Solution อัดฉีดเม็ดเงินลงทุนไปก่อนแล้ว รวมกันมากกว่า 5 แสนล้านบาท และการเข้ามาลงทุนของ Tesla ในอินโดนีเซีย ก็ย่อมหมายถึงการเข้ามาเจาะตลาดในภูมิภาคนี้เช่นกัน และไทย ก็คือหนึ่งในตลาดสำคัญของภูมิภาค
ล่าสุดมีความชัดเจนแล้วว่า Tesla เตรียมทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย หลังจากที่มีข่าวลือมาตลอดช่วง 2-3 ปีมานี้ แต่ในตอนนั้น เป็นข่าวการเข้ามาทำตลาด ผ่านทางตัวแทนจำหน่าย แต่ครั้งนี้ Tesla ตัดสินใจเข้ามาเจาะตลาดเองโดยตรง ด้วยการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย ในชื่อ บริษัท เทสลา ประเทศไทย จำกัด เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาทถ้วน โดยมีคณะกรรมการบริษัท เป็นชาวต่างชาติทั้ง 3 คน โดยวัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียนก็คือ ประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง และอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบเก็บพลังงานแบบติดตั้ง ระบบผลิตพลังงาน และอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบพลังงาน โดยมีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่อาคารเอ็มไทย ทาวเวอร์ ออล ซีซั่นส์ เพลส ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ พอจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า Tesla ประเทศไทย จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆของ Tesla เท่านั้น ที่คาดว่าจะมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ และมีความเป็นไปได้สูงว่า จะมีการนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ไม่ช้าก็เร็ว ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบในด้านภาษี จากข้อตกลงทางการค้าเสรีอาเซียน อย่างไรก็ตาม ต้องจับตามองต่อไปว่า Tesla จะตัดสินใจลงทุนในเมืองไทย มากกว่าแผนธุรกิจในช่วงแรกนี้หรือไม่ เช่น การตั้งฐานการประกอบแบตเตอรี่ขึ้นในเมืองไทย หรือแม้แต่การตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นที่นี่ หลังจากที่คู่แข่งอย่าง NIO เพิ่งประกาศแผนการสร้างศูนย์วิจัยในด้าน AI และระบบขับขี่อัตโนมัติ ในประเทศสิงคโปร์ ไปเมื่อ 1-2 วันที่ผ่านมา
อีกบริษัทหนึ่งที่น่าจับตามอง และมีข่าวลือถึงการเข้ามาลงทุนในเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านทางความร่วมมือกับบริษัทพันธมิตรในเมืองไทย ก็คือ BYD ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน ที่ตอนนี้ยังไม่มีข่าวคราวใดๆ แม้แต่การจดทะเบียนบริษัทในเมืองไทยโดย BYD เอง และก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ในการยื่นเรื่องขอการสนับสนุนจากภาครัฐ ในเรื่องการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ แม้ว่า BYD เอง จะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ผ่านทางบริษัทเอกชนบางรายไปก่อนแล้วก็ตาม ซึ่งหากค่ายรถยนต์จีนรายนี้ พร้อมเข้ามาลงทุนจริงๆ ตามที่มีข่าวในเรื่องการเตรียมยื่นเรื่อง เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ของรัฐบาลไทย ภายในเดือนพฤษภาคม ณ เวลานี้ BYD ก็ควรจะต้องจัดตั้งบริษัทในเมืองไทยไปเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นการลงทุนโดยตรง ก็ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ ส่วนความร่วมมือกับพันธมิตรในไทย จะต้องรอการยืนยันอีกครั้ง ว่าจะเป็นไปตามข่าวลือหรือไม่ และการรุกเข้าสู่ตลาดเมืองไทยของ Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลก จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในตลาดได้มากแค่ไหน แต่อย่างน้อย น่าจะทำให้เจ้าตลาดจากญี่ปุ่น อย่าง Toyota ปวดหัวไม่น้อย เพราะแค่การแข่งขันกับค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ก็หนักหนาสาหัส อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว