ย้อนกลับไปเมื่อราว 4-5 ปีก่อน สื่อชื่อดังอย่าง Bloomberg ได้จัดอันดับให้ Toyota เกือบจะรั้งท้าย ในบรรดาค่ายรถยนต์ต่างๆทั่วโลก มากกว่า 20 แบรนด์ชั้นนำ ในเรื่องความพร้อมในการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้ ซึ่งในขณะนั้น วิสัยทัศน์ของ Toyota ยังมองว่า รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ไกลตัว และอาจจะต้องใช้เวลากว่า 10 ปี ที่จะถึงยุคของระบบขับเคลื่อนชนิดนี้ โดยบริษัทจะมุ่งเน้นไปในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีไฮบริดที่มีอยู่แล้ว และระบบขับเคลื่อนไฮโดรเจน Fuel Cell ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ผู้บริหารของ Toyota ยังยืนยันแนวคิดนี้อยู่ ที่ล่าสุด ยังออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ จะทำให้เกิดมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม มากกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งมลภาวะที่ว่า เกิดจากโรงานไฟฟ้าถ่านหิน ที่เป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าต้นทาง อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม Toyota ก็เพลย์เซฟมาโดยตลอด ด้วยการเจรจาขอซื้อกิจการแบตเตอรี่ หรือการหาพันธมิตรในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ากับผู้เล่นสำคัญในตลาด เช่น BYD Panansonic หรือร่วมพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ากับค่ายที่ร่วมชะตากรรมเดียวกันอย่าง Subaru ซึ่งนำไปสู่การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในตระกูล bZ ที่ย่อมาจากคำว่า Beyond Zero ที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนี้
หลังจากที่เผยโฉมรถต้นแบบไปก่อนแล้ว ในที่สุด Toyota ก็ได้เปิดตัว bZ4X รถเอสยูวีไฟฟ้าขนาดกลาง รุ่น production ที่พัฒนาร่วมกับ Subaru ในชื่อรุ่นว่า Solterra โดยมีกำหนดการจำหน่าย ในกลางปี 2022 ที่จะถึง ซึ่ง bZ4X ถูกพัฒนาบนแพลตฟอร์ม e-TNGA มีทั้งระบบขับเคลื่อน FWD และ AWD มาพร้อมดีไซน์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากฉลามหัวค้อน ทำให้รถรุ่นนี้ดูแตกต่างไปจากรุ่นอื่นๆของ Toyota อยู่พอสมควร ส่วนจะเป็นผลลัพธ์ของภาษาการออกแบบใหม่หรือไม่นั้น ต้องรอดูการเผยโฉม bZ รุ่นใหม่ๆที่กำลังจะตามมา
ไฮไลต์สำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า คงหนึไม่พ้นเรื่องของประสิทธิภาพแบตเตอรี่ โดย bZ4X มาพร้อมแบตเตอรี่แบบลิเธี่ยมไอออน ขนาด 71.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่ถูกติดตั้งอยู่พื้นรถ และได้รับการควบคุมอุณหภูมิ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ที่น่าสนใจก็คือ แบตเตอรี่ชุดนี้ สามารถขับเคลื่อนให้ bZ4X แล่นไปได้ไกลสูงสุด ถึง 500 กิโลเมตรต่อชาร์จ ในรุ่น FWD และลดลงเหลือ 460 กิโลเมตร ในรุ่น AWD ซึ่งตัวรถมีน้ำหนักมากกว่า โดยรองรับหัวชาร์จแบบ AC ขนาด 6.6 กิโลวัตต์ และแบบ DC ขนาด 150 กิโลวัตต์ ที่สามารถชาร์จไฟ ให้ได้ความจุ 80% ของแบตเตอรี่ ในเวลาเพียง 30 นาที โดย Toyota เคลมว่า แบตเตอรี่สามารถรักษาความจุ ได้ที่ระดับ 90% ของความจุแรกเริ่ม ที่ออกมาจากโรงงาน ได้ยาวนานถึง 10 ปี หรือเทียบเท่ากับระยะทาง 240,000 กิโลเมตร ในการใช้งาน นอกจากนั้น แบตเตอรี่ของ Toyota ยังมีความปลอดภัยสูง ซึ่งจะมีระบบเฝ้าระวัง ในเรื่องของแรงดันไฟฟ้า กระแสไฟฟ้า อุณหภูมิ การกำจัดการปนเปื้อนของสารเคมีภายใน มาพร้อมระบบหล่อเย็นแรงต้านทานสูง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เมื่อเกิดการชนอย่างรุนแรง
Toyota bZ4X มาพร้อม 2 ขุมพลังทางเลือก โดยรุ่น FWD หรือขับเคลื่อนล้อหน้า จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัว ที่ติดตั้งบริเวณเพลาหน้า ให้กำลังสูงสุด 201 แรงม้า ทำความเร็วจาก 0-100 ภายในเวลา 8.4 วินาที ส่วนรุ่น AWD ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ที่ติดตั้งบริเวณเพลาแต่ละข้าง ซึ่งมอเตอร์แต่ละตัว จะให้กำลังสูงสุด 107 แรงม้า รวมเป็น 215 แรงม้า โดยน้ำหนักรถอยู่ที่ 2,005 กิโลกรัม มากกว่ารุ่น FWD ถึง 85 กิโลกรัม แต่สามารถทำความเร็วจาก 0-100 ได้ดีกว่า คือภายในเวลา 7.7 วินาที ทั้งนี้ก็เพราะมีพละกำลังที่มากกว่า แรงฉุดที่ดีกว่า และถือว่าเป็นรถยนต์จาก Toyota รุ่นแรก ที่ใช้เทคโนโลยขับเคลื่อนแบบ AWD จาก Subaru โดยมาพร้อมฟีเจอร์ X-Mode และ Grip Control
แพลตฟอร์ม e-TNGA เป็นสถาปัตยกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ของบริษัทรุ่นแรก ที่มีการพัฒนาร่วมกับ Subaru มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ และมีความแข็งแรงเป็นพิเศษ โดย Toyota มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าว ให้รองรับการใช้งานสไตล์ออฟโรดในแบบรถเอสยูวี แต่ก็พยายามคงประสบการณ์ในการโดยสาร ในแบบรถยนต์นั่ง ด้วยการใช้ระบบพวงมาลัยแบบ steer-by-wire ที่ให้ความรู้สึกในการควบคุมรถที่ดีขึ้น พร้อมการปรับแต่งแชสชีส์ให้เหมาะสมที่สุด โดยระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบ MacPherson Strut พร้อมคอยล์สปริง ส่วนด้านหลังเป็นแบบ Double Wishbone พร้อมคอยล์สปริงเช่นกัน
Toyota bZ4X มีความยาว 4,690 มม กว้าง 1,860 มม และสูง 1,650 มม ระยะฐานล้ออยู่ที่ 2,850 มม ยาวและกว้างกว่า Honda CR-V เล็กน้อย ระยะฐานล้อก็ยาวกว่า แต่มีความสูงที่น้อยกว่า
และด้วยการที่ใช้สถาปัตยกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ และฐานล้อที่ยาว ทำให้พื้นที่ห้องโดยสารขนาด 5 ที่นั่ง มีความกว้างขวางเป็นพิเศษ โดยมีความยาวภายในห้องโดยสาร 1940 มม กว้าง 1515 มม และสูง 1160 มม โดย Toyota เคลมว่า bZ4X เป็นรถเอสยูวีขนาดกลาง ที่มีพื้นที่ช่วงขามากที่สุดในคลาส โดยมีระยะห่างของฐานเบาะนั่ง จากหน้าถึงหลัง 1,000 มม เทียบเท่ากับรถซีดาน D-Segment เลยทีเดียว
แผงหน้าปัดมีเอกลักษณ์ ด้วยจอแสดงข้อมูลการขับขี่ขนาดใหญ่ ที่ยื่นขึ้นมาเหนือคอนโซลหน้า จอแสดงผลกลางก็มีขนาดใหญ่กว่าปกติที่เห็นในรถยนต์ทั่วไป มาพร้อมระบบ infotainment จาก Toyota รุ่นล่าสุด ที่มีระบบนำทางผ่านระบบ cloud และรองรับการสั่งการด้วยเสียงใหม่ล่าสุด นอกจากนั้น TOYOTA ยังเน้นการปรับปรุงการป้องกันเสียงรบกวนให้ดีขึ้น ด้วยกระจกแบบพิเศษ และระบบลดเสียงลมจากภายนอก
Toyota bZ4X มีอ็อปชั่นเป็นหลังคาซันรูฟ แต่ที่น่าสนใจกว่า ก็คือหลังคาแบบโซล่าร์เซลล์ ซึ่งมีกระแสไฟฟ้ามากพอ ที่จะขับเคลื่อนรถไปได้ถึง 1,800 กิโลเมตร ในการใช้งานรวมทั้งปี นอกจากนั้น ระบบปรับอากาศ ระบบทำความอุ่นพวงมาลัย เบาะนั่งคู่หน้า รวมถึงบริเวณเท้า ถูกออกแบบมา เพื่อใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งถูกส่งมาจากปั๊มความร้อน
ระบบที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ แหล่งจ่ายไฟ DC ที่รองรับการใช้งานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เราสามารถเปลี่ยนรถไปเป็นแหล่งจ่ายไฟให้กับบ้าน ในกรณีที่ไฟดับได้ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งจ่ายไฟให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆเมื่อมีกิจกรรมนอกสถานที่
Toyota bZ4X จะมาพร้อมระบบความปลอดภัย Toyota Safety Sense รุ่นล่าสุด ที่มีระบบ ADAS และระบบช่วยจอดเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด โดยในส่วนของฮาร์ดแวร์ที่ใช้ คือระบบเรดาร์แบบมิลลิมิเตอร์เวฟและกล้องแบบ monocular จะมีองศาในการตรวจจับที่กว้างขึ้นกว่าเดิม
Toyota มีแผนจำหน่าย bZ4X ทั่วโลก ในช่วงกลางปี 2022 ตามมาด้วยการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าอีก 3 รุ่น โดยภายในปี 2025 Toyota มีแผนเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในตระกูล bZ ทั้งหมด 7 รุ่น ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยสารคาร์บอน ให้ได้เป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นภารกิจและเป้าหมาย ที่จะบรรลุร่วมกับรถยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ อย่างรถยนต์ไฮบริด รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ฟิวเซลล์
การพยายามเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า ที่ดูจริงจังและเป็นรูปธรรมอย่าง bZ Series น่าจะเป็นการให้ความมั่นใจกับลูกค้าของบริษัททั่วโลก ว่า Toyota จะไม่ยอมตกขบวน ในการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน และพร้อมปรับตัว เพื่อที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายของบริษัท ซึ่งเหมือนเป็นการปิดโอกาส ที่จะได้เห็น Nokia ของวงการยานยนต์ ซึ่งครั้งหนึ่ง มีความเชื่อมั่นในมาตรฐานของตัวเองมากจนเกินไป และกว่าจะรู้ตัว ก็สายเกินไปเสียแล้ว