โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย รายงานสถิติการขายรถยนต์ ประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ที่มีการชะลอตัวทุกเซ็กเมนท์ โดยมียอดขายรวมทั้งสิ้น 52,442 คัน ลดลง 11.6% ประกอบด้วยรถยนต์นั่ง 16,689 คัน ลดลง 9.8% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 35,753 คัน ลดลง 12.4% ขณะที่รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ มีจำนวน 27,816 คัน ลดลง 15% สืบเนื่องจากความวิตกกังวล ต่อภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 และ 4 อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา และการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายวัน เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีส่วนทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ ชะลอการตัดสินใจซื้อสิ้นค้าทุกประเภท ที่ยังไม่ความจำเป็น
ตลาดรถยนต์ในเดือนสิงหาคม มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากความกังวลต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกที่ 4 รวมทั้งการออกมาตรการล็อกดาวน์ และเคอร์ฟิว เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส เป็นปัจจัยสำคัญ ที่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้ต้องชะลอ หรือเลื่อนกำหนดการออกไป รวมถึงสถานการณ์ทางการเมือง ที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้า ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัว และขาดแรงกระตุ้น ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งนี้ ยังส่งผลกระทบ ต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวม และทำให้ผู้บริโภค ชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์
ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ประจำเดือนกรกฎาคม 2564
มีปริมาณการขาย 25,121 คัน ลดลง 15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 11,458 คัน ลดลง 17.0% ส่วนแบ่งตลาด 45.6%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 9,460 คัน ลดลง 0.2% ส่วนแบ่งตลาด 37.7%
อันดับ 3 Ford Ranger 1,892 คัน เพิ่มขึ้น 0.1% ส่วนแบ่งตลาด 7.5%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 1,585 คัน ลดลง 29.3% ส่วนแบ่งตลาด 6.3%
อันดับ 5 Nissan Navara 350 คัน ลดลง 74.0% ส่วนแบ่งตลาด 1.4%
อันดับ 6 MG Extender 296 คัน ลดลง 56.6% ส่วนแบ่งตลาด 1.2%
อันดับ 7 Mazda BT-50 80 คัน ลดลง 2.4% ส่วนแบ่งตลาด 0.3%
อันดับ 8 Chevrolet Colorado 0 คัน ลดลง 100.0% ส่วนแบ่งตลาด 0.0%
อันดับ 9 Tata Xenon 0 คัน ลดลง 100.0% ส่วนแบ่งตลาด 0.0%
ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Isuzu D-MAX สามารถกลับขึ้นมาแซง Toyota Hilux Revo ได้อีกครั้ง หลังจากที่ในเดือนมิถุนายน D-MAX ถูกแซงไปได้อย่างเฉียดฉิว โดยยอดขายในเดือน 7 ที่ผ่านมา D-MAX ทิ้งห่าง Hilux Revo ได้ถึงเกือบ 2 พันคัน เรียกว่า พยายามเอาคืนจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม สภาพตลาดโดยรวม ต้องบอกว่า แย่ลงทุกค่าย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะมีก็เพียง Ford Ranger เท่านั้น ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น แต่ก็เพียง 0.1% และยังสามารถรักษาอันดับ 3 ได้อย่างเหนียวแน่น แม้ว่ากำลังจะเข้าสู่การปรับเปลี่ยนโฉมทั้งคันก็ตาม ส่วนอันดับอื่นๆ เหมือนจะทรงตัว ด้วยอันดับเดิม ที่ไล่เรียงกันลงมา ส่วน 2 อันดับสุดท้าย อย่าง Chevrolet Colorado และ Tata Xenon คาดว่าอีกไม่นาน ก็น่าจะถูกถอดออก จากสารบบการจัดอันดับ เพราะบริษัทแม่ ต่างก็ถอนทัพกลับประเทศไปแล้ว
ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ใน 7 เดือนแรกของปี 2564
มีปริมาณการขาย 194,114 คัน เพิ่มขึ้น 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อันดับ 1 Isuzu D-MAX 87,087 คัน เพิ่มขึ้น 7.0% ส่วนแบ่งตลาด 44.9%
อันดับ 2 Toyota Hilux Revo 71,293 คัน เพิ่มขึ้น 20.6% ส่วนแบ่งตลาด 36.7%
อันดับ 3 Ford Ranger 15,652 คัน เพิ่มขึ้น 38.4% ส่วนแบ่งตลาด 8.1%
อันดับ 4 Mitsubishi Triton 12,277 คัน ลดลง 11.3% ส่วนแบ่งตลาด 6.3%
อันดับ 5 Nissan Navara 4,087 คัน ลดลง 50.9% ส่วนแบ่งตลาด 2.1%
อันดับ 6 MG Extender 2,948 คัน เพิ่มขึ้น 36.4% ส่วนแบ่งตลาด 1.5%
อันดับ 7 Mazda BT-50 748 คัน ลดลง 14.9% ส่วนแบ่งตลาด 0.4%
อันดับ 8 Tata Xenon 22 คัน ลดลง 80.2% ส่วนแบ่งตลาด 0.0%
อันดับ 9 Chevrolet Colorado 0 คัน ลดลง 100.0% ส่วนแบ่งตลาด 0.0%
ในภาพรวมของทั้ง 7 เดือนแรก ยอดขายยังเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ก็เนื่องมาจากยอดขายที่กระเตื้องขึ้น ในเดือนก่อนหน้านั้น ก่อนที่โรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า จะพ่นพิษในเดือนกรกฎาคม โดย Isuzu D-MAX ยังนำมาเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างที่ 2 อย่าง Toyota Hilux Revo ถึง 15,794 คัน ครองส่วนแบ่งการตลาด สูงถึง 44.9% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดรถกระบะในไทย แต่ Toyota ก็ยังมีสิทธิ์ลุ้นจากรุ่นพิเศษ GR Sport และรุ่นปรับปรุงใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไป เมื่อไม่กี่วันก่อน แต่จะทันพลิกสถานการณ์ให้ Hilux Revo กลับมาเป็นอันดับ 1 ในปีนี้ ได้หรือไม่นั้น ต้องรอลุ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ถึงจะพอประเมินสถานการณ์ได้ แต่ด้วยเวลาที่เหลืออีกเพียงไม่กี่เดือน งานนี้ Toyota อาจจะต้องยอมยกธงขาว แล้วไปลุ้นกันต่อในปีหน้า ที่น่าสนใจก็คือ Ford Ranger สามารถกลับมาครองอันดับ 3 ได้ในปีนี้ ทั้งๆที่กำลังจะมีการเปลี่ยนเจนเนอเรชั่น และตลาดก็รับรู้มานานหลายเดือน แต่ด้วยความขยันในการเปิดตัวรุ่นพิเศษต่างๆ พร้อมโปรโมชั่นที่หลากหลาย เลยทำให้ยังสามารถทำยอดขายได้อย่างสม่ำเสมอ จนมาถึงทุกวันนี้ ในขณะที่ Mitsubishi Triton ดูเหมือนจะเงียบๆไปในปีนี้ การเปิดตัวรุ่นพิเศษตัวถังสีแดง Passion Red ก็ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นยอดขาย ให้ได้เป็นกอบเป็นกำ ส่วนในเดือนสิงหาคมทั้งเดือน สถานการณ์โรคระบาดยังไม่ดีขึ้น ทำให้รายงานสถิติการขายครั้งต่อไป ตัวเลขยอดขาย ก็ไม่น่าจะต่างไปจากนี้มากนัก หรืออาจจะแย่ลงไป จากกำลังซื้อของประชาชน ที่ลดลงไปมากขึ้น