สำนักข่าว Financial Times รายงานว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลญี่ปุ่น มีความพยายาม ในการเสนอการควบรวมกิจการ ของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Honda และ Nissan ท่ามกลางความกังวล ในเรื่องความไม่แน่นอน ของอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก ซึ่งความพยายามนี้ ได้เริ่มมีขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่ผ่านมา โดยมีเหตุผลในการผลักดันว่า อุตสาหกรรมยานยนต์แบบดั้งเดิม กำลังจะถูกแทนที่ โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขับขี่อัตโนมัติ ที่อาจจะทำให้ค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบในไม่ช้า จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวภายในรัฐบาล
เรื่องการควบรวมกิจการของ Honda ค่ายรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น ด้วยยอดขาย 4.8 ล้านคันต่อปี กับค่ายรถยนต์อื่น ได้มีการพูดถึงมาโดยตลอด ในช่วงปีหลังๆมานี้ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว ก็เกิดขึ้นกับค่ายรถยนต์ทั่วโลก แต่ทั้ง Honda และ Nissan ก็ได้ออกมาปฏิเสธความเป็นไปได้ในทันที และการผลักดันแนวคิดนี้ ก็หยุดชะงักไป จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ความต้องการในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยียานยนต์ต่างๆ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสร้างแรงกดดันต่อค่ายรถยนต์ต่างๆทั่วโลก ให้พิจารณา ถึงความเป็นไปได้ ในการควบรวมกิจการกัน เพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็น PSA บริษัทแม่ของ Peugeot ที่เพิ่งปิดดีลไป กับ Fiat Chrysler ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือการที่ Ford และ Volkswagen ร่วมมือเป็นพันธมิตร ในการผลิตรถยนต์บางประเภท เพื่อลดต้นทุน
ญี่ปุ่นมีค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ อยู่ถึง 8 ค่ายด้วยกัน โดย 4 ใน 8 คือ Mazda Subaru Suzuki และ Daihatsu มีการถือหุ้นไขว้ กับค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของโลก อย่าง Toyota ในขณะที่ Nissan ก็มีเครือข่ายพันธมิตร ร่วมกับ Renault และ Mitsubishi ซึ่งทำให้เหลือเพียง Honda เท่านั้น ที่ยังโดดเดี่ยวในอุตสาหกรรมยานยนต์
ความคิดในการที่จะให้ Honda และ Nissan ควบรวมกิจการด้วยกัน เป็นของที่ปรึกษาคนหนึ่ง ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชินโซะ อาเบะ เพราะมองว่า Nissan เอง ก็กำลังประสบปัญหาใหญ่ ตั้งแต่มีข่าวการจับกุม อดีตผู้บริหารระดับสูง นาย Carlos Ghosn ซึ่งอาจจะทำให้บริษัททั้งกลุ่ม พังลงมาในที่สุด และ Honda เอง ก็ยังไม่มีความร่วมมือกับค่ายรถยนต์ใดๆ อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ที่จะทำให้เกิดความรู้สึก ถึงความมั่นคงได้
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร Honda กลับไม่ยอมรับแนวคิดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า โครงสร้างทางการเงินของกลุ่ม Nissan มีความซับซ้อน ในขณะที่ทาง Nissan เอง ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะต้องการแก้ไขปัญหาภายใน ให้เสร็จลุล่วงโดยเร็วมากกว่า ซึ่งไอเดียการควบรวมกิจการนี้ ได้หายไป ก่อนที่จะมีการพูดถึง ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทด้วยซ้ำ
อุปสรรคสำคัญอีกอย่างก็คือ การออกแบบทางด้านวิศวกรรมของ Honda จะแตกต่างไปจากค่ายรถยนต์อื่นๆ ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยาก ที่้จะใช้ชิ้นส่วน และแพลตฟอร์มต่างๆร่วมกับพันธมิตร ซึ่งการลดต้นทุน ด้วยการใช้ชิ้นส่วนต่างๆร่วมกัน เป็นปัจจัยหลัก ในการควบรวมกิจการ และแม้ว่าทั้งสองบริษัท จะมีขนาดองค์กรที่ใกล้เคียงกัน แต่โมเดลทางธุรกิจ กลับแตกต่างกันมาก โดย Honda ทำกำไรจากธุรกิจจักรยานยนต์ มากกว่าธุรกิจรถยนต์ และยังเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ รายใหญ่ที่สุดของโลก รวมถึงการผลิตเครื่องบินเจ็ต เครื่องตัดหญ้า และมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับเรือยนต์
ในด้านเทคโนโลยี ทั้งสองบริษัท ก็มีนโยบายที่แตกต่างกัน โดย Nissan จะเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ส่วน Honda จะเน้นหนักไปที่การพัฒนารถยนต์พลังไฮโดรเจน เหมือนกับ Toyota ในขณะที่ธุรกิจยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ Renault และ Nissan มีความร่วมมือกับ Waymo ในการพัฒนาการให้บริการขนส่งอัตโนมัติ ทั้งในฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ส่วน Honda กลับลงทุนในบริษัทในเครือของ General Motors ที่ชื่อ Cruise ในการพัฒนายานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในขณะนี้ ทั้งสองบริษัท ยังออกมาปฏิเสธความเป็นไปได้ดังกล่าว แต่ความคิดที่จะผลักดัน การควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัท โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลญี่ปุ่น ก็อยู่บนพื้นฐานที่มีความเป็นไปได้ ในแง่ของความอยู่รอดของบริษัทในระยะยาว ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเอง ก็คงไม่ปล่อยให้ค่ายรถยนต์แห่งชาติ ล้มลงต่อหน้าต่อตา หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เกิดขึ้นมาจริงๆในอนาคต