หลังจากที่เป็นข่าวฮือฮา เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในวันเดียวกันกับที่ General Motors ประกาศยุติกิจการผลิตรถยนต์ Chevrolet ในเมืองไทย Great Wall Motors ก็เริ่มมีข่าวมาเป็นระยะ และได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าในเมืองไทย โดยเฉพาะจากการที่กำลังจะเป็นผู้เล่นรายใหม่ ในตลาดรถกระบะที่มีการแข่งขันสูง ซึ่ง Great Wall เอง ก็มีแผน ในการขึ้นเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกของโลก ในตลาดรถกระบะปิกอัพ ภายในปี 2025 ด้วยเป้ายอดขายมากกว่า 3 ล้านค้น
และอย่างที่เราได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้วว่า Great Wall มีแผนในการทำตลาดรถยนต์ 3 ประเภทในเมืองไทย ตามไลน์อัพที่มีอยู่ในต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งมีอยู่ 4 แบรนด์ด้วยกัน คือ Great Wall ที่เป็นแบรนด์ของรถกระบะ ที่คาดว่าจะส่งรุ่น P Series หรือ Cannon ที่เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นรถกระบะ รุ่นที่ขายดีที่สุดในประเทศจีน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากเดิมที่เป็นรุ่น Wingle ภายใต้แบรนด์ Great Wall เช่นกัน
รถยนต์อีกประเภทหนึ่งก็คือ รถเอสยูวี ภายใต้แบรนด์ Haval ซึ่งมีรุ่น F7 เป็นรุ่น Global Model ที่เตรียมทำตลาดทั่วโลก ซึ่งมีการผลิตจำหน่ายไปแล้ว โดยโรงงานของ Great Wall ในประเทศรัสเซีย และกำลังจะมีการผลิตจำหน่ายในประเทศอินเดีย ซึ่ง Great Wall ก็ได้เข้าไปซื้อกิจการของ General Motors อินเดีย เมื่อต้นปีนี้ และยังมีแบรนด์ suv ระดับพรีเมี่ยม ในชื่อ Wey ชื่อเดียวกันกับนามสกุลของผู้ก่อตั้งบริษัท และรถยนต์ประเภทสุดท้าย ก็คือรถยนต์ไฟฟ้า ที่ Great Wall มีแบรนด์ ORA ทำตลาดอยู่
ล่าสุด Great Wall มีการขยับตัวอย่างเป็นรูปธรรมในเมืองไทยแล้ว ด้วยการเปิดสำนักงาน ภายใต้ชื่อ บริษัท ฮาวาลเซลส์ ประเทศไทย จำกัด ที่มีการจดทะเบียนจัดตั้ง ในวันที่ 7 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียน 45 ล้านบาท โดยมีกรรมการบริษัท เป็นชาวจีนเพียง 1 คน ส่วนที่ตั้งสำนักงานแห่งใหม่นี้ อยู่บนชั้น 31 ของอาคารเดอะไนน์ ทาวเวอร์ แกรนด์ พระราม 9 โดยมีการระบุวัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียนว่า ประกอบกิจการค้าปลีก ค้าส่ง รถขับเคลื่อนสี่ล้อพลังงานไฟฟ้า รถอเนกประสงค์ รถกระบะ รวมถึงชิ้นส่วน อะไหล่และอุปกรณ์ ซึ่งชัดเจนว่า Great Wall จะทำตลาดรถยนต์ทั้ง 3 ประเภท ตามที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมบริษัท จึงไม่ใช่ชื่อว่า Great Wall Motors ในการทำตลาดที่เมืองไทย จากการตรวจสอบของทีมงาน CarDebuts พบว่า เมื่อปี 2554 มีการจดจัดตั้งบริษัท ที่ชื่อ เกรท วอลล์ มอเตอร์(ประเทศไทย) จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยมีกรรมการ 2 คนเป็นคนไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียนว่า ประกอบกิจการผลิต และจำหน่ายรถยนต์ อะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์ รวมทั้งนำเข้า และส่งออกสินค้าดังกล่าว แต่บริษัทดังกล่าว ได้เลิกกิจการไป ในปี 2560 ซึ่งนี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ Great Wall เปลี่ยนมาใช้ชื่อ Haval เป็นชื่อนิติบุคคลหลักในเมืองไทย
การขยับตัวล่าสุดของ GREAT Wall นี้ น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจไทย เพราะเชื่อว่าหลังจากนี้ บริษัทน่าจะเริ่มวางแผนการผลิต ซึ่งจะต้องมีการรับสมัครผู้บริหาร และพนักงานเป็นจำนวนมาก เพราะในเมืองไทย และระดับโลก Great Wall มีฝันอันยิ่งใหญ่ ที่แน่นอนว่า จะต้องใช้บุคคลากรจำนวนมาก ในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา Great Wall ทำยอดขายทั่วโลก ไปได้ที่ 80,828 คัน แต่เป็นยอดขายในประเทศจีน ถึง 78,804 คัน นั่นหมายความว่า Great Wall จะต้องทุ่มเทให้กับการทำตลาดในต่างประเทศอีกมาก โดยเฉพาะในเมืองไทย ที่เป็นตลาดรถกระบะอันดับต้นๆของโลก