‘อีวี ประชารัฐ’ ประเทศไทย มีการพูดถึงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่า ยังไม่มีอะไร ที่จับต้องได้ชัดเจน ในแง่ของการสนับสนุน ให้กับทางภาคประชาชน แต่ล่าสุด ดูเหมือนว่าทางรัฐบาล มีการขยับตัวที่ชัดเจน มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
เมื่อคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้เปิดประชุมนัดแรกในวันนี้ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมเจ้าหน้าที่จากกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย เพื่อร่วมหารือ ในมาตรการผลักดันให้เกิดการผลิต และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ให้แพร่หลายมากขึ้น เพื่อลดปัญหามลพิษ รวมถึง PM 2.5 โดยวางเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ให้ได้ 30% ด้วยกำลังผลิต 2.5 ล้านคัน/ปี ภายในปี 2030 พร้อมตั้งเป้า เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ในภูมิภาค
ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ มีการหยิบยกมาตรการเร่งด่วน คือ โครงการ “อีวีประชารัฐ” ซึ่งมีช่วงเวลาดำเนินการ ระหว่างปี 2564-66 หรือ 3-4 ปีข้างหน้า ที่จะให้สิทธิประโยชน์ กับผู้ใช้รถ คือรับซื้อรถยนต์เก่า (ที่มีอายุ 10 ปี) สูงสุดถึง 100,000 บาทต่อคัน เพื่อนำเงินไปแลก เป็นรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ โดยมีเป้าหมายให้เกิดการซื้อขาย รถปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) ที่ 25,000 คัน และ รถยนต์ไฟฟ้า 100% จำนวน 25,000 คัน
ในส่วนของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ได้มีการจัดตั้งแคมเปญที่ชื่อ “วินสะอาด” ที่จะเริ่มดำเนินการ เร็วขึ้นกว่า ส่วนของรถยนต์ 1 ปี คือมีระยะเวลา ดำเนินโครงการ 3 ปี ในช่วงปี 2563-66 โดยผู้ให้บริการ จักรยานยนต์รับจ้าง ที่มีเสื้อวินเป็นชื่อตนเอง จำนวน 53,000 คัน ทางภาครัฐ จะให้เปลี่ยนมาใช้ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยจะได้รับสิทธิพิเศษ คือรับซื้อรถเก่า (ที่มีอายุ 10 ปี) 15,000 บาท/คัน และชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่าง 10,000 บาท/คัน ภายในเวลา 3 ปี และค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ 30,000 บาท/คัน ภายในเวลา 6 ปี
มาตรการต่างๆเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งในการพยายามผลักดัน ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิต และใช้รถไฟฟ้าในภูมิภาค โดยจะส่งเสริม ให้มีการผลิตแบตเตอรี ขึ้นภายในประเทศอีกด้วย
หลังจากนี้ ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ในทางปฏิบัติจริง โครงการที่ว่ามาทั้งหมด จะเกิดขึ้นหรือไม่ และผลลัพธ์ที่ตามมา จะอยู่ในระดับ ที่ถือว่าประสบความสำเร็จ มากน้อยแค่ไหน