การเคลื่อนไหวของ Ford ประเทศไทย ที่มีต่อการประกาศยุติ การดำเนินธุรกิจในเมืองไทยของ Chevrolet เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่มีความกังวลว่า Ford อาจจะถอนตัว จากตลาดเมืองไทยในอนาคต เหมือนกับ Chevrolet หรือไม่ และการที่มีข่าวในลักษณะเดียวกัน ที่ประเทศออสเตรเลีย จนทำให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงกับต้องขอคำยืนยันจากทางผู้บริหารระดับสูงของ Ford ว่าจะยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปที่นั่นหรือไม่ หลังจากที่ General Motors ได้ตัดสินใจเลิกทำตลาด รถยนต์แบรนด์ Holden ทั้งในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อันเป็นผลมาจากนโยบายถอนตัว จากตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา และการขายกิจการโรงงานในเมืองไทย ให้กับ Great Wall Motors ซึ่งแต่เดิม โรงงานแห่งนี้ เป็นฐานการผลิตรถยนต์ Holden ที่ใช้พื้นฐานมาจาก Chevrolet เพื่อส่งออกไปจำหน่ายใน 2 ประเทศดังกล่าว ตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้
เพื่อให้ทุกอย่างมีความชัดเจนมากขึ้น ทีมงาน CarDebuts ได้ตรวจสอบงบการเงิน ในส่วนของงบกำไรขาดทุน ของบริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหลักของ Ford ที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่ม ว่าในช่วงปี 2555-2561 ที่กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยข้อมูลออกมาล่าสุด จะมีผลประกอบการอย่างไร มีโอกาสที่จะทำให้ค่ายรถยนต์สัญชาติอเมริกันรายนี้ ยังสามารถยืนหยัดในตลาดรถยนต์ของเมืองไทย ได้อย่างมั่นคงหรือไม่ วันนี้ เราจะได้ทราบกัน
บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง ในวันที่ 28 ตุลาคม ปี พศ 2542 หรือ 20 ปีก่อน โดยในปัจจุบัน มีทุนจดทะเบียน 75 ล้านบาท เพื่อการขายยานยนต์ใหม่ ชนิดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ รถตู้ และรถขนาดเล็กที่คล้ายกัน
เริ่มจากปี 2555 Ford มีรายได้หลัก อยู่ที่ 39,632 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,403 ล้านบาท ในปี 2556 ยอดขายลดลงเล็กน้อย ที่ 38,230 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิ กลับพุ่งขึ้นเกือบเท่าตัว เป็น 2,323 ล้านบาท แต่ในปี 2557 รายได้ลดลงฮวบฮาบ เหลือเพียง 24,771 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัท ขาดทุนสุทธิ ที่ 310 ล้านบาท
ในปี 2558 รายได้ยังทรงตัว โดยเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย ที่ 27,667 ล้านบาท แต่ปีนี้ กำไรสุทธิกลับเพิ่มสูงขึ้น เป็น 1,303 ล้านบาท ในปี 2559 รายได้เริ่มเพิ่มสูงขึ้น เป็น 36,987 ล้านบาท กำไรสุทธิก็เพิ่มขึ้น เป็น 1,829 ล้านบาท จนมาถึงปี 2560 ปีที่ General Motors ของ Chevrolet มีการขาดทุนสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท แต่ Ford กลับมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็น 42,792 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิ เพิ่มขึ้น ถึง 2 เท่าตัว เป็น 3,641 ล้านบาท และบริษัทยังคงเดินหน้า ทำเงินอย่างต่อเนื่อง ด้วยยอดรายได้ในปี 2561 ที่ 56,235 ล้านบาท กำไรสุทธิ ก็ทะยานขึ้นเป็น 4,598 ล้านบาท
นั่นหมายความว่า ในช่วงเวลา 7 ปีที่กล่าวมา Ford มีการขาดทุนเพียงปีเดียวเท่านั้น และเป็นการขาดทุนเพียง 310 ล้านบาท แต่ในปีอื่นๆ สามารถทำกำไรเป็นระดับพันล้านบาท ทำให้ในช่วงปี 2555-2561 ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) มีกำไรรวมทั้งสิ้น 14,790 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขผลกำไรที่สูงขนาดนี้ น่าจะทำให้ Ford มีความมั่นคงในด้านทางการเงิน และมองว่า ตลาดเมืองไทย ยังสามารถทำเงินให้กับบริษัทได้อีกมาก ทั้งๆที่บริษัทเอง ก็มีการทำตลาดรถยนต์เพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีจำนวนรุ่นน้อยมาก เมื่อเทียบกับค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น อย่าง Toyota หรือ Honda
ฉะนั้น จากผลประกอบการในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมา บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า Ford ประเทศไทย ยังเป็นค่ายรถยนต์ ที่ยังไม่มีแนวโน้มใดๆ ที่จะโบกมือลาเมืองไทยเหมือนกับ Chevrolet อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และรุนแรง และกำลังเดินทางมาถึงช่วงเปลี่ยนผ่าน จากการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ในการก่อเกิดพลังงานในการขับเคลื่อน มาเป็นการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือก๊าซไฮโดรเจน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากค่ายรถยนต์ใด ที่ไม่มีการปรับตัว หรือปรับตัวช้าจนเกินไป ผลประกอบการที่เป็นบวก ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นลบ ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ