เปิดงบกำไรขาดทุน Chevrolet หลังยุติบทบาทในเมืองไทย หลังทำธุรกิจมานานกว่า 20 ปี

การประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์ Chevrolet ในประเทศไทย ของ General Motors พร้อมทั้งขายโรงงานให้กับ Great Wall Motors ค่ายรถยนต์จากจีน ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า ผลประกอบการทางธุรกิจ ของ General Motors ในเมืองไทย ที่ผ่านมาในรอบหลายปี มีส่วนทำให้ค่ายรถยนต์สัญชาติอเมริกันรายนี้ ตัดสินใจถอนทัพกลับประเทศไปในที่สุด มากน้อยแค่ไหน

วันนี้ ทีมงาน CarDebuts ขอนำข้อมูล งบกำไรขาดทุนย้อนหลัง 7 ปี ของทั้งสองบริษัท คือ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล และบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผลิตเครื่องยนต์สำหรับยานยนต์ จากกระทรวงพาณิชย์ มานำเสนอให้ชมกัน โดยข้อมูลล่าสุด ที่ถูกเปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการ จะเป็นข้อมูลในระหว่างช่วงปี 2555-2561

เริ่มจากงบกำไรขาดทุน ของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตเครื่องยนต์ให้กับยานยนต์ต่างๆ บริษัทนี้ถูกก่อตั้งในเดือนมิถุนายน ปี 2551

โดยรายได้ในปี 2555 มีสูงถึง 10,000 ล้านบาท ในปีนั้น สามารถทำกำไร ได้ที่ 240 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นมา รายได้ก็เริ่มลดลง เป็น 8200 ล้านบาทในปี 2556 แต่กำไรในปีนี้ กลับพุ่งสูงขึ้น เป็น 760 ล้านบาท จากรายจ่ายที่ลดลง ส่วนรายได้ในปี 2557 ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็น 6350 ล้านบาท แต่ตัวเลขกำไร ยังถือว่าไม่เลว อยู่ที่ประมาณ 220 ล้านบาท จุดเปลี่ยนเริ่มเกิดขึ้นอีกครั้ง ในปี 2558 ที่รายได้ลดลง อยู่ที่ 5700 ล้านบาท แต่กลับมีกำไร เพียงแค่ 7 แสนกว่าบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์กลับดีขึ้นในปี 2559 ที่รายได้พุ่งสูงขึ้น เป็น 8750 ล้านบาท กำไรก็เพิ่มขึ้น เป็น 515 ล้านบาท โดยในปีต่อมา คือปี 2560 รายได้เพิ่มขึ้น เป็น 9150 ล้านบาท แต่กำไรลดลง อยู่ที่ 380 ล้านบาท ส่วนในปี 2561 รายได้ตกลงมา ที่ 7,600 ล้านบาท แต่กำไร กลับเหลือเพียง 38 ล้านบาทเท่านั้น

ผลประกอบการทั้ง 7 ปีข้างต้น ถือว่า เจนเนอรัล มอเตอร์ส เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย) สามารถรักษาผลประกอบการที่เป็นบวกได้ ในทุกปี ซึ่งอาจจะขึ้น หรือลง ตามรายได้ และการบริหารจัดการของบริษัท

ทีนี้เราลองมาดูผลประกอบการของบริษัทแม่ อย่าง เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) ที่ก่อตั้งในเดือนมิถุนายน ปี 2535 กันบ้าง

เริ่มจากปี 2555 รายได้หลัก มีอยู่ถึง 88,600 ล้านบาท กำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,748 ล้านบาท แต่ในปีต่อๆมา รายได้เริ่มลดลง เหลือเพียง 67,500 ล้านบาท ในปี 2556 แต่กำไรกลับเพิ่มขึ้น เป็น 2,621 ล้านบาท โดยในปี 2557 ต่อมา รายได้ลดลงฮวบฮาบ เหลือเพียง 41,495 ล้านบาท กำไรก็ลดลงมากเช่นกัน เหลือเพียง 580 ล้านบาทเท่านั้น

รายได้หลัก ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2558 โดยหลังจากนั้นอีก 3 ปีต่อมา คือปี 2559-2561 รายได้จะอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทในแต่ละปี แต่จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่มีส่วนทำให้ Chevrolet ตัดสินใจโบกมือลาประเทศไทยก็คือ ตัวเลขขาดทุนถึง 10,430 ล้านบาท ในปี 2560 ซึ่งปีก่อนหน้านี้ ยังทำกำไร ได้ที่ 1388 ล้านบาท และทุกอย่าง กลับแย่ลงไปอีก เมื่อผลประกอบการยังติดลบ ในปี 2561 ที่ 1,132 ล้านบาท แค่ 2 ปีนี้ บริษัทขาดทุน รวมทั้งสิ้น 11,562 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการ

ซึ่งหลังจากนั้น เราก็อาจจะพอประเมินได้ว่า สถานการณ์ อาจจะยังเลวร้ายต่อเนื่อง จากสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด ใน 2-3 ปีหลังที่ผ่านมา ที่สะท้อนออกมา ทางตัวเลขยอดขายรถยนต์ที่ลดลง และตัวเลข GDP ของประเทศ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา

จากตัวเลขผลประกอบการข้างต้น เป็นการยืนยันถึงสาเหตุ ของการประกาศยุติการจำหน่ายรถยนต์ในเมืองไทย หลังจากที่ได้ดำเนินธุรกิจ มากว่า 20 ปี และส่งไม้ต่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่ อย่าง Great Wall ด้วยการขายกิจการโรงงานที่จังหวัดระยอง ตามที่เป็นข่าว

Leave a Reply